วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกทม. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการด้านความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า กทม.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยแบ่งการทำงานแต่ละสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง และกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.เตรียมการก่อนเทศกาลปีใหม่ 2.ปฏิบัติการช่วงเทศกาลปีใหม่ 3.ปฏิบัติการหลังเทศกาลปีใหม่ ซึ่งบูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน
โดยกำหนดให้สำนักเทศกิจประสานผู้ประกอบการที่มีการจัดงานเทศกาลหรือจัดกิจกรรมขนาดใหญ่เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงานให้มีความปลอดภัย อาทิ กำหนดรูปแบบและลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ เส้นทางหรือจุดเข้าออกพื้นที่ รวมถึงจัดทำแผนการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการอำนวยการจราจร ของสำนักเทศกิจและสำนักงานเขต โดยการตั้งศูนย์บริการประชาชน
ส่วนสำนักการแพทย์ กำหนดให้ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่และลักษณะของกิจกรรมการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และแจ้งหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ที่เป็นแม่โซนในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และโรงพยาบาลใกล้เคียงทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักอนามัยตรวจสอบสถานที่ผลิต สะสม และจำหน่ายดอกไม้เพลิง สถานประกอบการ และสถานบริการต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบผู้กระทำผิดจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงจัดเตรียมความพร้อมหน่วยบริการสาธารณสุข สำหรับให้ความช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น
ส่วนขั้นตอนในการปฏิบัติการช่วงเทศกาลปีใหม่ กำหนดให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) จัดกำลังเจ้าหน้าที่รถดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์ประจำจุดเฝ้าระวังอันตราย จำนวน 37 จุด เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและให้สำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์กรุงเทพมหานคร(ศตส.กทม.) ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ณ ห้องเจ้าพระยา ชั้น 1 ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า ตามวันเวลา ดังนี้ วันที่ 29-30 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30-16.30 น. วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา08.30 น. วันที่ 1-4 มกราคม 2567 เวลา 08.30-16.30 น.
ส่วนสำนักการจราจรและขนส่ง กำหนดจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่พ.ศ. 2567 โดยจัดหน่วยซ่อมเคลื่อนที่เร็ว และรับแจ้งเหตุขัดข้องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลผ่านระบบ e-Report ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
ขณะเดียวกัน ให้สำนักเทศกิจจัดกำลังเจ้าหน้าที่สนับสนุนเจ้าพนักงานจราจร และดูแลความปลอดภัยของประชาชนและให้ศูนย์อัมรินทร์เป็นศูนย์เครือข่ายในการติดต่อสื่อสาร รับแจ้งเหตุไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกรุงเทพมหานคร และให้สำนักการแพทย์จัดเตรียมศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุและประสานงาน รวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
รศ.ทวิดา กล่าวว่า ช่วง 7 วันอันตราย พื้นที่ที่คาดว่าจะมีคนจำนวนมาก เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม เอเชียทีค สยามสแควร์ สามย่านมิตรทาวน์ เป็นต้น โดยเน้นให้ผู้จัดงานจัดทำแผนส่งให้ กทม.พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เช่น การควบคุมคนเข้างาน การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากจะมีผู้คนออกมาใช้บริการพร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งต้องดำเนินการตามแผนร่วมกับกทม.เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ใกล้เคียง
ส่วนความคืบหน้าจากการอนุญาตให้เปิดสถานบริการถึงเวลา 04.00 น. ที่ผ่านมาพบข้อร้องเรียนเรื่องการใช้เสียงในบางพื้นที่ แต่มีการตักเตือนและได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้รับรายงานกทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อดูแลความเรียบร้อยในช่วงเทศกาลปีใหม่ของแต่ละพื้นที่