กระทรวงเกษตรฯ ชวนเคานต์ดาวน์ปีใหม่ใน “มหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งาม ริมกว๊านพะเยา ณ ริมกว๊านพะเยา” จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2566 - 3 มกราคม 2567
วันที่ 15 ธ.ค.66 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายสยาม ปรีชา รองปลัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และนายณัฐ ครุฑสูตร ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งามริมกว๊านพะเยา ณ ริมกว๊านพะเยา” ภายใต้แนวคิด “อิ่มไอหนาว แอ่วม่วนลำ @ กว๊านพะเยา” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2566 - 3 มกราคม 2567 ณ จังหวัดพะเยา ร่วมกับณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ในการส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ให้ครบทั้งระบบการผลิตสินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เผยแพร่ความรู้นวัตกรรมด้านการผลิต การตลาด ทั้งพืช สัตว์ และประมง และเชื่อมโยงการจัดกิจกรรมทางภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีจุดแข็งในสินค้าอัตลักษณ์ GI เช่น ลิ้นจี่ฮงฮวย ข้าวก่ำล้านนา ข้าวหอมมะลิ-จังหวัดพะเยา สับปะรดภูแล-จังหวัดเชียงราย กาแฟเทพเสด็จ-จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ความรู้ นวัตกรรมด้านการผลิต การตลาด ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ เชื่อมโยงการจัดกิจกรรมทางการเกษตรในระดับภูมิภาคสร้างงานเกษตร ขยายแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดเตรียมการแสดงนิทรรศการต่าง ๆ จากทุกหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าเกษตร และบริการต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 10 วัน 10 คืน ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 ณ ริมกว๊านพะเยา จำนวน 12 บูธ ประกอบด้วย
1) ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ให้บริการด้านการเกษตรจากแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) ธุรกิจเกษตร จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ การค้าออนไลน์ และธุรกิจสมัยใหม่ 3) นวัตกรรมเกษตรทันสมัย ทางเลือกใหม่ของเกษตรกร แนะนำนวัตกรรมพืชพันธุ์ดี แนวคิด BCG Model การใช้สารชีวภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุ ทางการเกษตร และนวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร 4) ฝึกปฏิบัติเรียนรู้ด้านการเกษตร สอนให้คิดเป็น ทำได้ ผลิตได้ ขายได้ 5) ตำนานกว๊านพะเยา
6) การบริหารจัดการน้ำ ด้านชลประทาน 7) โต้งนาคำ กินข้าวหอมมะลิไทย ส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชน 8) งานประกวดแสดงสินค้าเกษตรสวยงาม 9) ฝนหลวง 10) สล่าศิลป์ 11) โครงการพระราชดำริ และ 12) จำหน่ายสินค้าเกษตร สินค้าอัตลักษณ์ ผลผลิตสดหรือแปรรูป อาหารพร้อมรับประทานที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ได้รับมาตรฐานซุ้มบริการเครื่องดื่ม และเวทีดนตรีสด
“การจัดงานมหกรรมการเกษตรฯ ในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนได้เห็นผลงานด้านเกษตร สร้างการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตรของจังหวัดพะเยา และระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรและประชาชนได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน การเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติ โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และ การบริการเกษตรสมัยใหม่ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปด้วย” ปลัดเกษตรฯ กล่าว