บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ประเด็นวิพากษ์ในแวดวงท้องถิ่นพักหลังนี้ชักจะมีเสียงถี่ขึ้น มากขึ้น เพรามีข่าวโจษขานกันทั้งในสื่อออนไลน์ต่างๆ และ เสียงวิพากษ์ในความถดถอยกำลังใจของบุคลากรคนท้องถิ่น โดยเฉพาะฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ต้องมาทบทวน และหันมาพูด มาดูกันบ้าง เพราะ เรื่องนี้แต่เดิมมีประเด็นว่า ส่วนกลาง และหน่วยตรวจสอบโยนความผิดให้แก่คนท้องถิ่น เพราะ เรื่องทุจริต หรือข่าวต่างๆที่มาจากท้องถิ่นนั้น เมื่อเทียบปริมาณกับราชการบริหารส่วนกลาง หรือส่วนอื่นๆ แล้ว ท้องถิ่นมีปริมาณจำนวนเสียหายน้อยมาก เพียงแต่ท้องถิ่นมีจำนวนหน่วย อปท. ที่มากถึงเกือบ 8พันแห่งต่างหาก มีพบเห็นข่าวบ่อย และแท้ที่จริงแล้ว ข่าวนี้ มักจะเป็นการตีข่าวขายข่าวเกินจริงให้ดูว่ามีความเสียหายมาก ซึ่งคนท้องถิ่นก็โต้แย้งว่า เทียบปริมาณแล้วมันน้อยจริง ไม่ได้มีสาระเหมือนการทุจริตในส่วนอื่นที่เป็นร้อยล้านพันล้าน
นี้เป็นเหตุผลที่จะว่ากันต่อว่า มันยังมีองค์กรประเภทนี้ ที่ทำให้ “คนหมดไฟ” คนไม่อยากขับเคลื่อนการทำงาน อยู่เฉยๆ ดีกว่า ไม่เปลืองตัว ทำงานเช้าชามเย็นชาม เอาตัวรอดไปวันๆ หลายคนเลยนึกว่า ทำอย่างไรจึงจะหยุดเป็นองค์กรที่ คนเก่ง "อยากลาออก" โดยคนที่เกี่ยวข้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HR) หรือการบริหารงานบุคคล ต่างคิดหลักสูตร หลักการ HR และหาสูตรหาสาเหตุต่างๆ มาสารพัดจาระไน เช่น บริหารคนไม่เป็น จนลูกน้อง Burnout, กดดันจนลูกน้องอยากลาออก, มอบหมายงานที่ไม่ตรงตามความถนัดของคน, วางตัวเป็นผู้บริหารไม่เป็น ทำให้ลูกน้องอึดอัด, ไม่เข้าใจการสร้างวัฒนธรรมในองค์กร, ไม่เข้าใจการออกแบบสวัสดิการ สวัสดิการห่วย, ไม่รู้จักการให้โอกาสคนเก่งได้แสดงฝีมือ เพราะต่างมีสมมติฐานว่า ถ้าคุณคือ "ผู้บริหาร" หรือ "หัวหน้า" ที่มีลักษณะแค่ข้อใดข้อหนึ่งในข้างบนนี้ คุณควรรีบแก้ไขหรือปรับปรุงตัวนี้ให้เร็วที่สุด ก่อนที่องค์กรของคุณจะเป็น "องค์กรที่คนเก่ง อยากลาออก" ทั้งนี้ก็เพราะว่า ปัญหาเรื่องคน (man) หรือในที่นี้จะเรียกตามศัพท์ใหม่ไฮเทคก็คือ “ทรัพยากรมนุษย์” (Human Resource) ถือเป็นปัญหาอันดับ 1 ของคนในองค์กร ที่ไม่มีองค์กรไหนสามารถเลี่ยงได้ ข้อเสียก็คือมัน "แก้ยากที่สุด" ข้อดีคือถ้าคุณแก้ได้ องค์กรของคุณก็พร้อมที่จะ "เติบโตแบบก้าวกระโดด"
และมีการอ้างหลักการ HR ต่างๆ อาทิ เทคนิคการออกแบบองค์กรให้ทุกคนอยากร่วมงานด้วย, เทคนิคการหาคนเก่ง การดึงคนเก่งที่เข้ากับทีมได้ เข้าองค์กร, เทคนิคการดึงคนเก่งให้อยู่กับองค์กรนานๆ, เทคนิคการออกแบบสวัสดิการที่น่าดึงดูดสำหรับคนยุคใหม่, เทคนิคการจัดระบบ HR, เทคนิคการปั้นและบริหารทีมที่มีอยู่แล้ว และรวมไปถึง เทคนิคการออกแบบ Organisational Culture ตามแต่กูรูที่อ้างตัวเป็น Coach จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อหวังว่าจะได้ช่วยกันปรับปรุงองค์ต่างๆ ที่เสียศูนย์เหล่านั้น ให้ฟื้นคืนชีพ และ ทำให้บุคลากรทำงานดี ทำให้องค์กรรอดในโลกแห่งการ Disrupt อย่างรวดเร็วและรุนแรงในสังคมแห่งโลกโซเชียลในวันนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นเจนวาย (Y) เจนซี (Z) ที่จะเข้ามาแทนรุ่นหลักๆ ที่จะกลายเป็น “ผู้สูงอายุสมบูรณ์” (Aged Society) ในอีกประมา 10 กว่าปีแน่นอน
วกมากล่าวถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ถือเป็นองค์กรหนึ่งของสังคมก็เช่นกัน อปท.หลายแห่งก็เป็นเช่นนี้ ที่สังเกตเห็น คนเก่งของการเมืองคือคนค้ำจุนตำแหน่งของเขาไว้ต่างหาก ไม่ใช่เก่งทำงาน เพราะต้องเข้าใจว่า อปท.นั้น มีบุคลากรส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น” นั้น ถือเป็นบุคลากรทางการเมือง ที่มีวาระเพียง 4 ปี แต่ฝ่ายประจำ หรือข้าราชการและพนักงานจ้างหรือลูกจ้างวาระที่เกษียณอายุราชการ 60 ปี ฉะนั้น ในการการทำงานเพื่อ “การบริหารสาธารณะ” (Public Service) จึงแยกส่วนกัน เพราะฝ่ายการเมืองมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ฝ่ายประจำมีหน้าที่ในการนำนโยบายของฝ่ายการเมืองไปสู่การปฏิบัติ และหากฝ่ายประจำทำไม่ได้ หรือทำไม่ดี ก็จะส่งผลร้ายต่อบุคลากร และอาจถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกกลั่นแกล้งต่างๆ ได้ นี่คือประเด็นปัญหาที่ทำให้เกิด “ปัญหาด้านบุคลากรของท้องถิ่น” มาจนทุกวันนี้ ว่า เขาเหล่านั้นจะเติบโตก้าวหน้าในชีวิตราชการได้อย่างที่เขาหวัง ตามระบบคุณธรรม (Merit System) ได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ การสรรหาการบริหารบุคคลท้องถิ่นโดยการสอบแข่งขัน และ การสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหารดำเนินการโดยส่วนกลาง คือ คณะกรรมการ ก.กลาง ทั้งนี้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 ที่เป็นปัญหายื้อกันว่า ส่วนจังหวัด โดยคณะกรรมการ ก.จังหวัด ก็อยากดำเนินการจัดสอบในกรณีดังกล่าว เพื่อความรวดเร็ว และเพื่อแก้ปัญหาบุคลากรไม่เลื่อนไหล เพราะไปติดที่คอขวด ทำให้ข้าราชการสายงานผู้บริหารโตไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังมิวาย ต่างฝ่ายต่างก็อ้างการทุจริต ทั้งการสอบที่ ก.กลาง หรือ ก.จังหวัดก็ทุจริต ไม่โปร่งใสเช่นกัน ดังเป็นคดีปกครอง และ ข่าวการร้องเรียนที่ปรากฏตามสื่อมีคดีพิพาทคดีปกครองมากถึง 500 กว่าคดี ต่อการสอบคัดเลือกที่ ก.กลาง เพียง 1 ครั้ง
ทางฝ่ายพรรคการเมือง (ก้าวไกล) พรรคฝ่ายค้านก็ได้ยื่นกฎหมายหลายชุด สรุปคือ ชุดแรก ในการปฏิรูปเปลี่ยนประเทศให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ชุดแรกคือ ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ (Demilitarize) ร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ชุดที่สอง คือ ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด 2 ฉบับ ชุดที่สามที่สำคัญต่อมาอีก 12 ชุด ที่สำคัญ ประกอบด้วย ชุดกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น, ชุดกฎหมายปฏิรูประบบราชการ, ชุดกฎหมายป้องกันการทุจริต เป็นต้น ที่ว่าสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับฝ่ายประจำข้าราชการ และองค์กรข้าราชการ ที่ถือเป็นตัวจักรในการขับเคลื่อนการทำงานของรัฐ ที่น่าสนใจคือ การปลดล็อกท้องถิ่น โดยเฉพาะ การยกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 เกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรท้องถิ่นตามที่กล่าวข้างต้น
แน่นอนว่าในปัจจัยการบริการ การปฏิรูป "คน" เป็นสิ่งสำคัญที่สุด (Personnel is a difficult issue because of human nature) เพราะทุกองค์กร ความสำเร็จอยู่ที่คน ความเข้าใจในรายละเอียด อย่างครบถ้วนในธรรมชาติของคน การปฏิรูปจึงจะสำเร็จ หากเป็นเพียงวาทกรรม จะสำเร็จได้ยาก และถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในองค์กรนั้นๆ ที่อาจไม่สามารถ "ก้าวข้ามความขัดแย้ง" ตามวาทกรรมที่ชูขึ้นมาได้เลย
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการเสวนาออนไลน์ (2564) เรื่อง "ผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย : Future Thailand" เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและสร้างการรับรู้ผลสำเร็จจากการวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทยในอนาคต รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในมิติที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณชนในมุมที่น่าสนใจ ก็ทำมาแล้ว แต่การนำผลวิจัยมาใช้ ต้องเปิดโอเพ่นให้วิพากษ์ด้วย อย่าปิดด้วยระบบหรืออื่นใด ทั้งนี้ให้เหมือนกับการตรากฎหมายตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
มีข้อสังเกตเล็กๆ ในส่วนของท้องถิ่น เช่น ในการตรวจสอบเอกสารจริง และสุ่มตรวจโครงการงบประมาณต่างๆของหน่วยตรวจสอบ คือ สตง. และ ป.ป.ช.ตรวจจากการร้องเรียน เป็นข่าวแล้วลงพื้นที่จริง มีการคิดสูตรนวัตตกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อเป็นตัวชี้วัดถึง “ความโปร่งใส” ตั้งแต่ เอกสารแบบพิมพ์ธรรมดา มาถึงชั้นลงโปรแกรมในแอปลิเคชัน ที่หน่วยตรวจสอบสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้โดยตรง ซึ่งทั้งมวลนั้นก็คือการตรวจกระบวนงานของ อปท. ว่ามีขั้นตอน ถูกต้อง โปร่งใส เปิดเผยได้หรือไม่ เพียงใด เพื่อกำหนดเป็นค่าคะแนนในการประเมิน เอาผลงานไป
นอกจากนี้ ในส่วนการตรวจคุณภาพของงาน อปท.นั้น มักจะตรวจได้เฉพาะงานก่อสร้าง และจัดซื้อครุภัณฑ์ ในด้านสังคม เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ความสงบเรียบร้อย งานวัฒนธรรม ประเพณี งานกีฬา ฯลฯ นั้นตรวจแต่รายงานผลการประเมินผล ที่ค่อนข้างเชิงนามธรรม วัดกันที่ผลงานเชิงความพึงพอใจ ความเหมาะสม ในด้านเศรษฐกิจ การฝึกอบรม การส่งเสริมอาชีพ การกระตุ้นตลาด ภาครัฐส่วนใหญ่มักจะได้คะแนนตกเกณฑ์ในข้อนี้ คือไปไม่ทันโลก เพราะมัวแต่ไปติดที่ระเบียบฯ ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มีการฝึกอบรม หรือดูงานทิพย์ เรียกกันภาษาบ้านๆ ว่า “ทิพย์” หรือ “เมฆ” เพราะไม่ได้ทำจริง หรือแบบสักแต่ว่าทำ ปลอมแปลง สร้างเอกสารต่างๆ ด้วยการสมรู้ให้ได้คะแนน หรือให้ผ่าน เป็นต้น ด้านการมีส่วนร่วม ก็มักจะแยกเอาเฉพาะผู้ที่เห็นด้วย ส่วนพวกค้านหลุดโลก มักจะถูกกันแยกออกไป ทำให้ผลคะแนนประเมินที่ได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ในด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่มักมีหน่วยงานเจ้าภาพทางวิชาการอยู่แล้ว อันนี้ก็ดีหน่อยเพราะเป็นมาตรฐานวิชาการที่เปลี่ยนแปลงผลยาก
มีงานที่แยกประเภทเป็นงานที่ อปท.รอรับผลถ่ายโอน หรือ อปท.ทำร่วม หรือ อปท.เชิญเข้าร่วม เมื่อการใช้เงินงบประมาณ ตามโครงการในแผนพัฒนา จึงมีการประชุม เพิ่มโครงการ เปลี่ยนแปลงโครงการกันบ่อยๆ เพราะนโยบายผู้บริหารท้องถิ่นที่มักเปลี่ยนแปลงกันบ่อยๆ รวมเหตุอื่นใดด้วยที่จะมีในข้างหน้าที่ไม่แน่นอน การตอบแบบสอบถามแบบ ita เป็นการเก็บข้อมูลในภาพกว้างๆ ยังไม่มีผลต่อการบังคับ กำชับ อะไรในเรื่องความผิดแก่เจ้าหน้าที่ หรือผู้รับการตรวจได้ แต่หากมีเรื่องขึ้นมา ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นการลำดับเหตุการณ์ และข้อมูลพื้นฐานการวัดว่าผิดหรือถูกได้ เพราะทุกอย่าง มีขั้นตอน เหตุผลเป็นลำดับกันมา ซึ่งก็เน้นตรวจได้เฉพาะกระบวนงาน (Process) แต่ถ้าตรวจความคุ้มค่า ต้องเก็บข้อมูลเชิงลึกลงไปอีก ซึ่งหน่วยตรวจสอบ ยังไม่ได้ทำ เหล่านี้คือข้อสังเกตในเชิงการปฏิบัติที่คนท้องถิ่นหลายๆ คนได้รับรู้ รับเห็น และรับทราบกันดี
ในเรื่องทัศนคตินี่ก็สำคัญ ขอเปรียบเทียบยกตัวอย่างกับคนจีนในทัศนคติในเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีต่อคนจีนเช่น ประเด็น (1) แหล่งผลประโยชน์ กับ (2) ภัยความมั่นคง เพราะข่าวคราวกับเรื่อง “จีนเทา” มันไปไกลแล้ว ที่ทำให้เกิดวาทกรรม "จีนเทา" ขึ้นมาทำให้คนจีนดีๆ เสียไปด้วย ควรแยกมองคนจีนเป็นรายบุคคล “เป็นปัจเจก” เพราะไม่ใช่คนจีนทุกคนเลวหมดเช่นนั้น ที่เลวร้ายคือเจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติต่อคนจีนโดยถือเอาค่าตอบแทนที่ได้รับจากคนจีนเป็นเกณฑ์กำหนด หากคนจีนรายใดยอมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากก็ได้รับความสะดวกจนเกินเลยตามที่ปรากฎเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ แต่อย่างว่านั่นแหละ มันเรื่องเทาๆ ทั้งนั้น รวมไปถึงเรื่อง “สถานะบุคคล” การทะเบียนและสัญชาติ การขอมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรให้คนจีน ที่มีการวิ่งเต้นเอกสาร เพื่อการมีสิทธิอยู่อาศัยในประเทศไทย ทั้งโดยถูกต้อง โดยซิกแซก หรือ แม้แต่การทุจริตตามข่าวที่มี
ขอฝากแง่คิด ตบท้ายเพราะ การทุจริตต่างๆ เช่น การทุจริตของ อปท. การเป็นข้าราชการ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ทำให้เราต้องเจอข้อท้าทายทางความรู้สึกอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างในสนามสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหาร อปท. (การบริหารงานบุคคล) ที่มีเหตุแห่งการทุจริต ไม่ว่าจะเป็น มีคนได้เรียบเรียงให้อ่านกันแล้ว ก็ลองอ่านไป อย่าคิดมาก เพราะหลายอย่างมันคือความจริง ที่นำมาพูดเล่นๆ ไม่ได้ เพราะมันแทงใจดำคนไง) อาทิ 1)คนที่ทำงานกับประชาชนอย่างมีคุณภาพ กับ คนที่ทำงานกับผู้บริหาร อยู่ในสนามเดียวกันตอนแข่ง 2)ต่อให้คุณเก่งให้ตาย สากลยอมรับคุณแค่ไหน แต่ถ้าคุณอยู่ในระดับที่น้อย และพื้นที่ปิด เสียงของคุณจะเงียบสนิท และคุณต้องยอมให้ใครก็ไม่รู้มานำคุณ ด้วยตำแหน่งของเขา 3)ตำแหน่ง ไม่ได้การันตีความสามารถและวุฒิภาวะ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็น 4)บ้ากลับบ้านดึก จนครอบครัวพังกันหมด ขายฝันทำน้อยได้มากกันแบบเพ้อเจ้อมาก แต่ขยันประชุมกันยันค่ำมืด พูดอย่าง ทำอีกโลกเลย 5)ถ้าคนมีอำนาจบอกว่า หมาคือแมว เอาสัตวแพทย์มาเถียง เขาก็ว่าหมาคือแมว 6)ด่าการเมืองกันสุดแรง รำคาญการเปลี่ยนแปลงตามการเมือง แต่สุดท้าย ทีมใหม่มา ก็พาตามกันไป แบบไร้จุดยืนที่มั่นคง 7)เด็กเก่งโตไว ไม่ผิดเลย แต่เด็กผีโตไว คือฝันร้ายของระบบมาก 8)ทันทีที่คุณลาออก ความเก่งและฝีมือของคุณ จะถูกยอมรับทันที แต่ถ้ายังนั่งอยู่ ก็ตามลำดับขั้น รอไป 9)ถ้าคุณเลือกจะเติบโต มีการสูญเสียมากมาย ที่คุณต้องพร้อมแลก คนเก่งจริงๆมากมาย ที่มีครอบครัว เลยแทบเลือกจะจบชีวิตที่ซี 7 8 หรือ 9 แค่นั้นเลย 10)จังหวะชีวิตคืออะไรที่โคตรไม่เป็นธรรม แต่มันก็จริงที่สุดแล้ว เก่งนอกสายตา กับธรรมดาแต่ไม่ห่างเลย 11)แต่ละปีเดินไป แบบไม่เห็นอะไรของประชาชนที่ดีขึ้นเลย แทบจะทำเพื่อตอบสนองตัวเองกันล้วนๆ 12)มาตรการบุคคล มีไว้จัดการคนเก่ง พูดมาก เท่านั้นฮะ พวกคนไม่ได้เรื่อง ไม่ทำงาน หรือโกงเนี่ยคือ กลัวมาก กลัวจัดการเขา แล้วเขาฟ้องกลับ เลยต้องมาทุบแต่คนเก่ง คนดี ที่บ่น 13)รักษาคนไม่ได้ ไม่โทษระบบไม่พอ ยังทำแบบเดิมต่อไป และโทษว่า ไม่อดทน 14)เหมือนคนโตๆ เขาลืมว่า ที่ชมคนนั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คุณลองเป็นผู้จ้างเหมา(บริหารบุคคล) ดูสิ เขาจะยังดีกับคุณแบบที่คุณเป็นผู้บริหารสูงอยู่ไหม 15)หลายคนตอนมีหน้าที่ปฏิบัติทำงานโง่บรรลัยพังยับเยินมาก พอได้มานั่งงานแผน วิชาการ นโยบาย โอ้โหปากอย่างแจ๋ว สอน สั่ง หน่วยอย่างเหนือ เดี๋ยว คุณเอาคนขี้แพ้ มาสอนหนทางชนะ มันจะเอาอะไรไปเชื่อมั่น ไปสำเร็จ ถ้าเขาเก่งอย่างปากที่แจ๋ว เขาทำสำเร็จตั้งแต่อยู่พื้นที่แล้ว
สาธยายมาแค่นี้ อย่าว่าพล่ามเลย มันก็ทำให้ ระบบเผาคนทำงาน จนแทบไม่มีใครอยู่ในระบบได้อย่างมีความสุขเลย ท่านว่าจริงไหม