สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า “พระรอด” สร้างในสมัยทวาราวดีเมื่อนับพันปีมาแล้ว สมัยที่พระนางจามเทวี ปกครองเมืองหริภุญไชย พระนางทรงสถาปนาพระอาราม ชื่อ จตุรพุทธปราการ (วัดมหาวัน) ขึ้น จึงดำริให้สร้างพระเจดีย์ไปพร้อมกัน พร้อมทั้งบรรจุ “พระรอด” ไว้ โดย พระสุมณานารทะฤาษี เป็นผู้สร้าง
พระรอด เป็นพระเนื้อดินเผา เนื้อดินจะเป็นดินบริสุทธิ์และละเอียดมาก เมื่อเข้าเผาได้รับความร้อนไม่เท่ากัน ทำให้สีและความแข็งแกร่งขององค์พระมีความแตกต่างกันไป โดยสามารถแยกสีได้ทั้งหมด 6 สีตามลำดับ คือ สีขาว สีแดง สีเหลือง สีเขียวคาบเหลือง สีเขียว และสีเขียวเข้มเหมือนเนื้อหินครก
พุทธลักษณะพิมพ์ทรงของพระรอด เป็นพระเครื่องขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 1.1 X 2.3 ซม. พุทธศิลปะทวารวดี-ศรีวิชัย พุทธลักษณะโดยรวมที่เป็นเอกลักษณ์ คือ องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย อยู่เหนืออาสนะ พื้นหลังมีใบโพธิ์เป็นบัลลังก์ ส่วนรายละเอียดศิลปะปลีกย่อยต่างๆ ทำให้แบ่งแยกพิมพ์ออกได้เป็น 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้นประการสำคัญ “พระรอด” จะปรากฏเพียงกรุเดียวเท่านั้น คือ “กรุวัดมหาวัน”
แนวทางในการพิจารณาพระรอดมีอายุกว่า 1,300 ปี ฉะนั้นเรื่องเนื้อหามวลสารปลอมอย่างไรก็ไม่เหมือนแน่นอน ส่วนพิมพ์ทรงหรือตำหนินั้น จากที่เห็นมีความพยายามกันมาหลายเซียน ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีใดๆ ก็ทำให้เหมือนของจริงไม่ได้ ดังนั้นพระรอดจึงดูไม่ยาก ขอเพียงรู้จักพิจารณาและมีความรอบคอบเป็นที่ตั้ง ดังได้กล่าวไปแล้วว่าพระรอดแบ่งแยกพิมพ์ออกได้เป็น 5 พิมพ์ หลักการพิจารณา เอกลักษณ์แม่พิมพ์ เบื้องต้น ของพระรอด ในแต่ละพิมพ์ก็แตกต่างกันออกไปในครั้งนี้จะขอกล่าวถึงหลักการพิจารณา เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของพิมพ์กลางมีดังต่อไปนี้คือ
- บริเวณด้านข้างขององค์พระจะมีปีกยื่นออกมา
- ใบโพธิ์จะมีลักษณะเป็นโพธิ์คู่และโพธิ์ติ่ง ด้านบนจะมีจุดโพธิ์ติ่ง และมี 3 ใบเหนือปลายพระเกศ ด้านข้างพระเศียร 2 ใบ กลุ่มโพธิ์แถวนอกใหญ่กว่าแถวใน และโพธิ์คู่จะมีระดับสูงเกือบเสมอกัน
- พระเกศจิ่มแหลมสั้น
- ใต้พระหนุ (คาง) ด้านซ้ายขององค์พระ ปรากฏเส้นเอ็นพระศอเป็นเส้นเล็กๆ ยื่นตรงลงมาถึงพระอังสา
- พระกรรณด้านซ้ายขององค์พระจะชัดกว่าด้านขวา ปลายพระกรรณเป็นห่วงคล้ายตะขอ งอออกทั้งสองข้าง
- ปรากฏเส้นเกินจากใบโพธิ์มาจรดพระอังสาด้านขวาขององค์พระ
- ขอบจีวรในซอกพระพาหาด้านขวาขององค์พระแตกเป็น 2 เส้น
- มีเนื้อเกินที่ใบโพธิ์ตรงพระกัประ (ข้อศอก) ด้านซ้ายขององค์พระ
- มีเส้นน้ำตกที่พระกัประ (ข้อศอก) ด้านซ้ายขององค์พระ
- มีฐาน 3 ชั้น ฐานชั้นบนใหญ่สุดและปรากฏเส้นแซมเล็กๆ
- ใต้แอ่งตรงพระเพลา (หน้าตัก) ใต้ฐานแรก มี ‘เส้นผ้าทิพย์’ ลักษณะเป็นเส้นนูนเล็กๆ
- ใต้ฐานมีเนื้อเกินยื่นออกมา เรียกว่า ‘ฐานก้นแมลงสาป’
ส่วนทางด้านพุทธคุณเป็นเลิศด้านแคล้วคลาดนิรันตราย รวมทั้ง อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม อุดมด้วยโภคทรัพย์ ครบครันครับผม