ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

โลกสมัยใหม่เป็นโลกของข้อมูลสำเร็จรูป ผู้คนไม่ต้องคิดวิเคราะห์อะไรเอง ส่วนใหญ่ก็มีคนยัดเยียดข้อมูลให้ และนั่นก็นำมาซึ่งหายนะต่าง ๆ มากมาย

คุณแดงแม่ของชนินทรเล่าว่า เพิ่งสังเกตดูพฤติกรรมของลูกโดยละเอียดก็เมื่อเกิดเรื่องถูกฟ้องร้องแล้วนี่เอง วันแรกหลังจากที่พาลูกไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว พอกลับมาถึงบ้าน เธอก็ถามลูกว่าเรื่องจริง ๆ เป็นอย่างไร ลูกก็ตอบแบบไม่สะทกสะท้านว่า ก็เป็นอย่างที่ตำรวจได้อ่านข้อความให้ฟังนั่นแหละ คือเขาเป็นคนหนึ่งที่แชร์ข้อความให้ร้ายพระมหากษัตริย์ เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มลับเฉพาะ มีสมาชิกไม่กี่คน และก็เห็นมีกลุ่มต่าง ๆ ในทำนองนี้มากมาย ไม่คิดว่าจะเป็นความผิดร้ายแรง นึกแค่ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบ “นินทากาเล” ทั่ว ๆ ไป และคนที่อยู่ในกลุ่มหลาย ๆ คนก็เป็นคนที่มีชื่อเสียง “น่าเชื่อถือ”

ชนินทรบอกว่า “เล่น” เรื่องนี้มาได้ปีกว่า เริ่มต้นก็คุยเรื่องแบบนี้กันที่คณะ ก็มีคุยกันอย่างเปิดเผยและดุเดือดรุนแรง จากนั้นก็ลองเข้าไปในเฟซที่มีการแชร์กันในเรื่องนี้ บางเฟสก็คุยกันเบา ๆ บางเฟสก็คุยกันแรง ๆ เขาก็ลองแสดงความเห็นไปตามนิสัย คืออยากโดดเด่นตามประสาวัยรุ่น จึงออกจะห้าว ๆ และห่าม ๆ คือใช้สำนวนแรง ๆ คิดว่าเป็นเรื่องที่อยากให้สนุกและน่าสนใจ แต่ส่วนใหญ่ก็กดไลก์กดติดตามและอ่านความเห็นของคนอื่น ๆ เสียมากกว่า บางทีก็หมั่นไส้นักการเมืองและผู้คนบางกลุ่ม ที่สามารถเชียร์หรือสรรเสริญเยินยอบุคคลที่เทิดทูนนั้นได้อย่างสะดวกสบาย จึงเข้ากลุ่มไประบายอารมณ์สู่กันและกัน ก็ทำให้มีความสุขขึ้นมาได้ รวมทั้งยังได้รับคำชื่นชมและกำลังใจจากบุคคลที่มีชื่อเสียงในกลุ่มเฟสนั้นด้วย ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกฮึกเหิมและมีความสุขมากขึ้น

คุณแดงบอกว่าลูกเน้นคำว่า “มีความสุข” อยู่บ่อยครั้งในเวลาที่ได้เล่นเฟส ก็เลยเอาเรื่องนี้ไปคุยกับเพื่อนที่เป็นหมอในกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนก็ซักรายละเอียดว่าลูกพูดถึงอะไรและใครบ้าง พอชี้แจงให้เพื่อนรู้เพื่อนก็ร้องอ๋อในทันที บอกว่าชนินทรเป็นคนแบบที่เรียกว่า “ชังสังคม” (Anti-society) ซึ่งมีสาเหตุได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า มีปมด้อยเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา ฐานะ หรือความสามารถ เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ ที่ส่วนใหญ่ก็คือญาติพี่น้องหรือเพื่อนที่โรงเรียน แต่ชนินทรเป็นเด็กที่หน้าตาดี สุขภาพแข็งแรง แถมมีครอบครัวที่อบอุ่นและได้รับการเลี้ยงดูค่อนข้างดี ทั้งยังเป็นเด็กเรียนเก่ง และมีระเบียบวินัย ไม่ได้เป็นคนเกะกะเกเรอะไร ก็น่าจะไม่เข้าด้วยปัจจัยพวกนี้ ดังนั้นอาจจะเป็นด้วยอีกปัจจัยหนึ่ง คือการปลูกฝังทัศนคติโดยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทางสังคม แบบที่ฝรั่งเรียกว่า Socialization หรือนักวิชาการไทยเรียกว่า “การขัดเกลาทางสังคม” โดยเริ่มจากครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มคนในที่ทำงาน กลุ่มคนที่ไปเกี่ยวข้อง รวมถึงการสื่อสาร วัฒนธรรมประเพณี และเทคโนโลยี

คุณหมอเพื่อนของคุณแดงยกตัวอย่างในครอบครัวนักการเมืองอเมริกันในตระกูลเคนเนดี ซึ่งก็มีคนที่ประสบความสำเร็จหลายคน แต่ในจำนวนนั้นก็มีหลายคนที่เป็น “คนมีปัญหา” เพราะไม่สามารถประสบความสำเร็จอย่างที่ครอบครัวตั้งความหวัง บางคนก็ติดยาเสพติด บางคนก็มีข่าว “สำส่อน” หรือเกิดเรื่องอื้อฉาวทางเพศ จนถึงขั้นที่เป็นอาชญากรก็มี อย่างไรก็ตามผลการศึกษาในยุคใหม่พบว่า พวกชังสังคมมักเกิดจากการสื่อสารหรือ “กลุ่มเฉพาะ” เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้คนพยายามปรับตัวให้เข้ากลุ่มที่ตนเองชื่นชอบ โดยเฉพาะในคนในช่วงวัยที่เป็นวัยรุ่น มักจะมี “ไอดอล” หรือ “ฮีโร่” อยู่ในความเชื่อความคิดเสมอ ซึ่งในโลกของการสื่อสารสมัยใหม่คนพวกนี้มักถูก “แต่งปั้น” ขึ้นได้ง่าย ๆ เช่น การเป็นดารา นักร้อง หรือ “คนที่มีชื่อเสียง” เป็นต้น

คุณหมอเน้นคำว่า “การแต่งปั้น” ว่าเป็นไปในทุกวงการ ซึ่งปัจจุบันลุกลามมาถึงวงการการเมือง การเป็นคนดังทางการเมืองสามารถเป็นได้โดยง่าย เพียงแต่หาจุดสนใจของพวกวัยรุ่น แล้วเข้าไปพูดคุยกับวัยรุ่นเหล่านั้น และถ้าจับนิสัยกันได้ก็จะชักจูงและ “ลากใช้” กันได้ง่าย แบบว่าบางทีก็พากันไปสร้างเรื่องแปลก ๆ จนถึงขั้น “ฆ่าตัวตายหมู่” นั้นก็ยังได้ ซึ่งแต่ก่อนมักจะเป็นเรื่องทางศาสนาหรือไสยศาสตร์ ซึ่งพอถึงตรงนี้คุณแดงก็ถามเพื่อนหมอขึ้นว่า “แล้วเรื่องที่วัยรุ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์หละ มันกำลังแรงขึ้นเรื่อย ๆ”

คุณหมออธิบายว่า เรื่อง “ชังเจ้า” นี้มีมานานแล้ว เพียงแต่สมัยก่อนการสื่อสารมันยังเป็นเรื่องของ “ปากต่อปาก” ปัญหามันจึงจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ เพียงแค่ที่คนเอามาพูดคุยกันเท่านั้น คุณหมอยังยกตัวอย่างอีกด้วยว่า เอาเฉพาะที่เราพอจะมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ช่วงใกล้ ๆ ตัวเรา ในตอนที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต ก็มีคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” แล้วหนังสือพิมพ์ก็ลงข่าว ทีนี้ข้อมูลมันก็เริ่มกระจาย เพราะมีเครื่องมือสื่อสารที่กว้างไกลขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายปกป้องพระมหากษัตริย์ ที่เริ่มด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เขียนเป็น “วาจาสิทธิ์” ไว้อย่างชัดเจนว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พร้อมกับมีมาตราต่อมาว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ตรงนี้แหละที่ทำให้พวกชังเจ้ารู้สึกว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ การท้าทายพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ก็พอดีกับที่ยุคนี้มีโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งเป็นช่องทางให้คนพวกนี้สื่อสารกันได้ “ลึกลับ” ยิ่งขึ้น แต่นั่นแหละพอมีกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ที่ออกมาใน พ.ศ. 2550 การท้าทายก็ยิ่งหนักมือขึ้น จนมาถึงสมัยที่เรามีการปกครองโดยทหารตั้งแต่ พ.ศ. 2557 พวกนี้ก็ยิ่งกระทำอย่างหนักมือยิ่งขึ้น พร้อมกับที่รัฐบาลก็เอาจริง ปราบปรามหนักมือมากขึ้น คือจับเอาเข้าคุกและเอาผิดอย่างจริงจัง พอดีชนินทรก็มาทำความผิดในช่วงนี้ ก็เลยเจอ “แจ็กพอต” เป็นความซวยเข้าอย่างจัง

คุณแดงให้ข้อมูลกับเพื่อนหมอว่า จากที่เพื่อนหมออธิบายมาทำให้พอเข้าใจว่า ปัญหาของชนินทรเกิดจากอะไร คือตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อของชนินทรหรือสามีของคุณแดงนั้นก็ชอบการเมือง โดยได้เข้าไปร่วมชุมนุมกับพวกเสื้อเหลืองในปี 2549 ตอนนั้นชนินทรก็มีอายุได้ 11 ขวบแล้ว ซึ่งสามีชอบที่จะมาพูดเล่าเรื่องความชั่วร้ายของระบอบทักษิณในเวลาที่กินข้าวหรือไปไหนมาไหนด้วยกันกับลูก โดยอาจจะตั้งใจเล่าให้คุณแดงฟัง แต่ไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อลูกด้วย อย่างที่เธอได้แอบไปเห็นลูกเขียนกลอนชื่นชมทักษิณเข้าโดยบังเอิญในช่วงนั้น อันนี้อาจจะตรงกับทฤษฎีที่เพื่อนหมอเล่ามา คือลูกชอบทำตัวแข่งกับพ่อ เมื่อพ่อชอบหรือชื่นชมอะไรลูกก็จะแข่งไปในทางตรงกันข้าม รวมถึงที่พ่ออาจจะมีความคาดหวังอยากให้ลูก “เป็นนั่นเป็นนี่” มากเกินไป ซึ่งทำให้เป็นภาระแก่ลูกจนเกิดการ “ต่อต้าน” ดังกล่าว เหมือนกับที่เป็นปัญหากับตระกูลเคนเนดีนั้น

ส่วนเรื่อง “ชังเจ้า” คุณแดงทราบจากที่ได้ซักถามลูกว่า ในกลุ่มเฟซที่ชนินทรเข้าร่วมอยู่ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ 2 คน กับนักการเมืองอีก 2 คน ทั้ง 4 คนนี้เป็นเสมือน “ไอดอล” ประจำกลุ่ม โดยที่ทั้งสี่คนนี้ใช้ชื่อปลอม หรือ “นามแฝง” แต่สมาชิกในกลุ่มก็รู้ว่าอยู่ในมหาวิทยาลัยอะไรและพรรคการเมืองใด โดยทั้งสี่คนนี้จะใช้รูปที่เป็น “อวตาร” คือที่สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ในเวลาที่พูดคุย “ให้คอมเมนต์” ซึ่งก็คือชื่นชมหรือปลุกเร้าสมาชิกในกลุ่ม แต่ก็กล้าที่จะนำเสนอคลิปการบรรยายและการปราศรัยของแต่ละคนใน “ร่างจริง” เวลาที่จะให้ข้อมูลหรือข่าวสารต่าง ๆ กับสมาชิก จึงทำให้เฟสนี้ดูน่าเชื่อถือและ “มีพลัง”

คดีสมัยใหม่เกิดได้ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปเรื่อย ๆ ลำพังการใช้กฎหมายอาจจะตามไม่ทัน แต่ก็มีมาตรการด้านอื่น ๆ ที่จะให้ปัญหานี้คลี่คลายไปได้