Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.78-35.07 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างมีมติคงอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกันกับเฟด ทว่าทั้งสองธนาคารกลางกลับย้ำจุดยืนคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูง จนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่งสวนทางกับการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงของเฟด นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านระยะสั้นไปได้ 

บรรยากาศตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้พอสมควรในปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่ยังคงขยายตัวได้ +0.3%m/m ดีกว่าคาด และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงสู่ระดับ 2 แสนราย น้อยกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.26% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.87% หนุนโดยแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกจำกัดโดยท่าทีของทั้ง BOE และ ECB ที่ยังคงต้องการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูง จนกว่าทั้ง BOE และ ECB จะมั่นใจว่าสามารถควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมองว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมหน้า และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.50% ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 4.00% ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรสถานะ Long บอนด์ระยะยาวของผู้เล่นในตลาดบ้าง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมาพอสมควร ทำให้เรามองว่า นักลงทุนควรรอจังหวะเข้าซื้อในช่วงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าจะไล่ราคาซื้อ (เน้น Buy on Dip) นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด นั้นอาจยังไม่สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดมากนัก ทำให้ ยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้ ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต้องปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ต่างปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากท่าทีของทั้ง BOE และ ECB ที่ยังคงต้องการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูง จนกว่าจะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็มีส่วนลดความต้องการถือเงินดอลลาร์ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลงบ้าง ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.9 จุด (กรอบ 101.8-102.6 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) รีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,050-2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่า ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายงานเดือนของจีน ทั้งยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงนี้ได้ 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนธันวาคม จากฝั่งอังกฤษ ยูโรโซน และสหรัฐฯ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักดังกล่าว 

โดยแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทนับตั้งแต่ตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด รวมถึงผลการประชุม BOE และ ECB อาจเริ่มชะลอลงบ้าง โดยเงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าเงินบาทจะได้รับปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าใหม่ๆเพิ่มเติม โดยหนึ่งในปัจจัยที่อาจช่วยให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ คือ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในส่วนตลาดหุ้น หลังล่าสุด นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยราว +3.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ไทย ก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ไทยได้บ้าง ดังจะเห็นได้จากแรงขายบอนด์ระยะยาวไทยในวันก่อนหน้า

นอกจากนี้ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน เพราะหากข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด ก็จะยิ่งสร้างความกังวลให้กับผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกดดันให้ เงินหยวนจีน (CNY) และสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ ผันผวนอ่อนค่าลงได้ ในทางกลับกัน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างไม่ได้คาดหวังว่า ภาพเศรษฐกิจจีนจะออกมาสดใสมากนักในช่วงนี้ ทำให้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงการถือครองสินทรัพย์จีนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินหยวนจีน (CNY) และสกุลเงินเอเชียได้บ้าง และนอกเหนือจากความผันผวนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน เรากังวลว่า หากรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจนและยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดต้องทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งเงินบาทและราคาทองคำได้ 

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.10 บาท/ดอลลาร์

 

#ค่าเงินบาท #กรุงไทย #ดอกเบี้ย