ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น : ไปปักหมุดงานศิลปะ เปิดโลก The Open World ที่เชียงรายสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 เปิดอย่างทางการไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 มีศิลปินชาวไทยและต่างชาติ 60 คน 21 ประเทศ ได้ร่วมกับเครือข่ายศิลปินเชียงรายสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทั้งกลางแจ้ง ในหอศิลป์ ที่จัดแสดงผลงานกระจายตัวในพื้นที่หลักของอำเภอเมือง เช่นที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน พิพิธภัณฑ์บ้านดำ วัดร่องขุ่น หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า โกดังยาสูบ ห้องสมุดรถไฟ เป็นต้น
ส่วนที่ได้ไปเช็คอินที่ศาลากลางหลังเก่าจังหวัดเชียงราย มีการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมจากผืนผ้าใบทาบใบตรงหน้าอาคารศาลากลางเก่า ผลงานศิลปิน Michael Lin ผสมลวดลายและสีสันของผ้าจากชาวเขาในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยผืนผ้าเปรียบเสมือนงานฝีมือที่รำลึกถึงสหภาพแรงงานและชุมชน ผลงานชิ้นนี้ตั้งคำถามต่อบทบาทของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนของภูมิภาคนี้ นอกจากผลงานเด่นสะดุดตาแล้ว ด้านหน้าอาคารยังเป็นลานสนามหญ้าเขียวขจีผืนใหญ่ ชวนให้คนเมืองและนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาเป็นต้องแวะโพสต์ท่าถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
อีกหนึ่งสถานที่ที่ได้ไปเช็คอินยามค่ำ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย หรือ Chiang Rai International Art Museum (CIAM) โดยอาคารหอศิลป์โดดเด่นตั้งอยู่กลางทุ่งนาผืนใหญ่ มีงานศิลปะกลางแจ้งชิ้นใหญ่ ใช้ไม้ไผ่สร้างผลงานของ Wang Wen-Chih ศิลปินไต้หวัน เป็นการทำงานร่วมกันช่างฝีมือและสล่าเชียงราย เพื่อ “เปิดโลกภายใน เชื่อมโลกภายนอก” ที่เชื้อเชิญผู้ชมเดินก้าวสู่ภายในโพรง ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะผ่านภาพ เสียง เปิดรับมุมมองที่มีต่อโลกที่เปิดกว้างและครอบคลุมมากขึ้น
ในส่วนของหอศิลป์ CIAM ภายในมีผลงานศิลปินหลายท่านที่น่าชมทีเดียว และนอกจากการแสดงผลงานในพื้นที่หลักของอำเภอเมืองแล้ว ยังมีที่อำเภอเชียงแสน ศรีดอนมูลอาร์ตสเปซ ช้างแวร์เฮาส์ โรงเรียนบ้านแม่มะ รวมถึงบ้านสวนสมพงษ์ อ.แม่ลาว และพื้นที่กิจกรรมพิเศษ Pavillion หรือศาลาจัดแสดงผลงาน Collateral Events จำนวน 13 แห่ง กระจายตัวอยู่ตามอ.เมือง อ.แม่ลาว อ.พาน พร้อมด้วยกิจกรรมคู่ขนานอื่นๆ ไปจนถึง 30 เมษายน 2567
อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง
ด้าน ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย 2023 กล่าวการจัดงานนี้ว่า ถือเป็นงานระดับโลก คณะทำงานมีความตั้งใจทำให้ได้ผลดีที่สุด เพื่อให้เชียงรายมีมาตรฐานการจัดงานระดับนานาชาติ สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ เชื่อว่างานไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงรายจะสามารถดึงดูดคนทั่วโลกโดยเฉพาะคนที่สนใจงานศิลปะ จะหลั่งไหลเข้ามาชมผลงานของศิลปินที่ชื่นชอบ และยังได้ผลพวงศิลปินที่เข้ามาทำงานไปแชร์ประสบการณ์บอกเล่าต่อให้กับเครือข่ายหรือแฟนคลับ ได้รับรู้ว่าประเทศไทยมีการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณภาพ มีความงดงามของสถานที่ต่างๆ ได้เห็นศิลปะและวัฒนธรรมอันล้ำค่า ได้สัมผัสน้ำใจไมตรีของชาวเชียงรายในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับแขกจากทั่วโลก
“เรามีการวางแผนงานในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมผลงานศิลปะร่วมสมัยทุกพื้นที่ โดยมีศูนย์กลางบริการข้อมูล 2 แห่ง ได้แก่ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย และวัดร่องขุ่น สามารถเข้าไปดูโปรแกรมการจัดงาน สถานที่แสดงผลงานทั้งหมด ทำให้นักท่องเที่ยววางแผนจัดสรรเวลาการเข้าชมในแต่ละพื้นที่ได้อย่างสะดวก” และว่า “เป้าหมายของผมคืองานศิลปะ ขณะที่ผู้เสพงานศิลปะในประเทศไทยที่อาจจะมีจำนวนไม่มากนัก ก็จะหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ด้วยชิ้นงาน ด้วยความน่าตื่นเต้นของการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญเป็นการเปิดมุมมองด้านการศึกษาศิลปะกับนักเรียน นักศึกษา ที่จะได้เรียนรู้ศิลปะร่วมสมัยยุคใหม่ที่มีคุณภาพ เพราะศิลปะไม่ใช่เพียงภาพวาดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังนำเสนอความคิดและจินตนาการด้วยการนำวัฒนธรรมของเชียงรายมาสร้างงานศิลปะให้เกิดขึ้นในระดับสากล จนเกิดการพัฒนาความคิดใหม่ๆ และสร้างสุนทรียภาพให้ผู้ชมได้มากขึ้นด้วย" ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย กล่าว ชวนชาวเชียงรายและนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนปักหมุดเปิดโลก The Open World ชมงานงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 กัน