วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้า "จัดการหนี้ทั้งระบบ" ไป ซึ่งจะมีลูกหนี้ 4 กลุ่มที่เป็นเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี 2.กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพการชำระ อาทิ ข้าราชการ ครู ตำรวจ เป็นต้น 3.กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และ 4.กลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL) คงค้างเป็นเวลานาน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ลูกหนี้ทั้ง 4 กลุ่ม รวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 10.34 ล้านราย โดยกลุ่มที่ 1 หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ลูกหนี้รายย่อยที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมกันราว 1.1 ล้านราย และลูกหนี้เอสเอ็มอี 1 แสนราย
ขณะที่กลุ่มที่ 2 ซึ่งจะเป็นกลุ่มข้าราชการ มีกลุ่มที่จะสามารถมีวิธีการเข้าไปดูแลแก้ปัญหาได้ เช่น การรวมหนี้สหกรณ์กับธนาคารออมสิน กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 3 แสนคน
กลุ่มที่ 3 จะมีจำนวนมากที่สุด เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ชำระหนี้ไม่ต่อเนื่อง มีทั้งสิ้นราว 5.89 ล้านราย แบ่งเป็นส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับการพักหนี้ไปแล้ว จำนวน 1.59 ล้านราย และก็มีลูกหนี้เช่าซื้ออีกประมาณ 2 ล้านราย และลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อีกประมาณ 3 ล้านราย
ส่วนกลุ่มที่ 4 ที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานาน ตรงนี้จะดึงมาเฉพาะที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เนื่องจากในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะมีวิธีการดูแลอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ต้องแยกหนี้เสียออกไปอยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) กลุ่มนี้มีประมาณ 3 ล้านราย
"สรุปก็คือ คราวนี้มีลูกหนี้ที่รัฐบาลจะดูแล 10.34 ล้านราย"