“ภูมิธรรม”ควง“อุ๊งอิ๊ง” ติดปีกผู้ประกอบการไทยด้วย “Soft Power X ทรัพย์สินทางปัญญา” ดันส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก ตั้งเป้า!เพิ่มรายได้ 20 ล้านครัวเรือน ทำเงินเข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท/ปี

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ติดปีกทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทยด้วย Soft Power X ทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมด้วย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยเต็มสูบ สร้างความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปตลาดต่างประเทศ

 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ทั้งปัจจัยทางสังคม โรคระบาด ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประเทศไทยต้องปรับรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญและใช้ยกระดับการค้าระหว่างประเทศในเวทีโลก ให้ประเทศสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต

 

รัฐบาลต้องการเปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ด้านวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน โดยออกนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) สอดแทรกวัฒนธรรมไทยไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลกสร้างการยอมรับวัฒนธรรมไทยที่มีพลังสูงเปลี่ยนทักษะพื้นบ้านเป็นทักษะสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตขึ้น

 

“ตั้งเป้าหมายสร้างงานให้คนไทย 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาทต่อปีผ่านอุตสาหกรรม 11 สาขา ประกอบด้วย ท่องเที่ยว เทศกาล กีฬา อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ หนังสือ เกม ออกแบบและแฟชั่น ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ โดยการสร้างแบรนด์นวัตกรรมและการออกแบบผลักดันสู่ตลาดโลก มีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ มวยไทย การท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้านอาหารผ่านครัวไทยสู่ครัวโลก เช่น งาน Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาท และงานแสดงสินค้ากลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น งาน ASIAN Contents & Film Market ประเทศเกาหลีใต้ และงาน TIFFCOM (ทิฟคอม) ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น สร้างรายได้รวมกว่า 2,600 ล้านบาท หวังว่าซอฟต์พาวเวอร์ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นนโยบายหลักผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น

ทุกวันนี้ทุกคนพยายามนิยามคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ ดิฉันคิดว่าการนิยามคำว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด เพราะรัฐบาลกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ผลักดันอุตสาหกรรมต่างๆเพื่อให้ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เน้นเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นพลังอำนาจที่เมื่อเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมใดมีคนคล้อยตามโดยไม่ต้องบีบบังคับจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายต่อวัฒนธรรมและประเทศเหล่านั้น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทยทางภาคธุรกิจและคนไทยทั้งประเทศ นำสินทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่าให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สร้างงานและเพิ่มรายได้มากขึ้น และจะต้องทำทั้งระบบ เช่น การทำ OTOP สนับสนุนสินค้าไทยอย่างเป็นระบบ ครัวไทยสู่ครัวโลก สร้างเชฟไทยส่งออกไปต่างประเทศให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก การสนับสนุนแฟชั่นครั้งใหญ่กรุงเทพเมืองแฟชั่นจุดพลุให้ทั่วโลกมองเห็นศักยภาพแฟชั่นไทย ต้องทำทั้งระบบต่อเนื่องในระยะยาว ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยรัฐบาลสนับสนุนให้เอกชนที่รู้จริงนำซอฟต์พาวเวอร์ไปทำให้เป็นไปได้จริง

 

ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า งานสัมมนา “ติดปีกทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทยด้วย Soft Power X ทรัพย์สินทางปัญญา” ประกอบด้วยการเสวนาเสริมสร้างความรู้และแบ่งปันประสบการณ์โดยวิทยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” โดย นายอาสา ผิวขำ ผอ. สำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นางสาวทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา นายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร และนายพลพัฒน์ อัศวะประภา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น “กลไกสนับสนุนผู้ประกอบการไปตลาดต่างประเทศ” โดยผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ “รู้ลึก รู้จริง จากประสบการณ์การส่งออกทรัพย์สินทางปัญญา” โดย นางสาวประอรนุช ประนุช       ผอ. สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายศรุต ทับลอย ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป นายจิติณัฐ อัษฎามงคล ประธาน วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย นายกฤษณ์ พุฒพิมพ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง/หัวหน้าฝ่ายออกแบบ บจก. ดอท ดีไซน์ สตูดิโอ และนายภเชศ จารุมนต์ หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ และการจัดแสดงผลงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม Soft Power คูหาให้บริการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคูหาให้บริการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา