"นับเป็นพระกริ่งรุ่นเก่าที่น่าสะสมมาก ถ้านับถึงปัจจุบันก็กว่า 70 ปี เมื่อนำแว่นขยายมาส่องดู จะสังเกตเห็นผิวขององค์พระเป็นลายมุ้งละเอียด"พระกริ่งฟ้าผ่า แม้จะเป็นพระกริ่งที่ออกโดย พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ วัดดอนยานนาวา แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหนึ่งใน ‘พระกริ่งสายวัดสุทัศน์’ ที่ได้รับความนิยมสะสมอย่างกว้างขวาง เนื่องด้วยสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงมอบแผ่นทองลงอักขระและชนวนพระกริ่งรุ่นเก่าๆ ที่สะสมไว้เพื่อใช้เป็นชนวนในการหล่อ และทรงเป็นประธานในพิธีฯ ส่วนด้านพุทธคุณนั้นเป็นเลิศสมชื่อจริงๆ ครับผม พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ อัตโนประวัติ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ หรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อกึ๋น” ท่านมีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาแต่ชาวทวาย เกิดที่บ้านทวาย เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยานนาวา สืบต่อจาก พระอุปัชฌาย์จั่น หรือ ท่านใหญ่ เจ้าอาวาสองค์เดิมซึ่งมรณภาพลง ปกครองดูแลวัดมาหลายสิบปี มีเกียรติคุณในทางสมาธิภาวนาและเข้มขลังในวิทยาอาคม โดยได้รับการถ่ายทอดมาจากพระอาจารย์คือ พระอุปัชฌาย์จั่น และ อาจารย์เปี่ยม อาจารย์ด้านวิทยาอาคมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จึงนับได้ว่า หลวงพ่อกึ๋น เป็นหนึ่งในบรรดาเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมเข้มขลังในยุคนั้นทีเดียว ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย  ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2507 วัดดอนยานนาวา มูลเหตุการสร้างพระกริ่งฟ้าผ่า เนื่องด้วยในปี พ.ศ.2480 สมัยที่ท่านเป็นพระครูกึ๋นนั้น เป็นช่วงที่เกิดสงครามอินโดจีน ในฐานะที่ท่านเคยเป็นทหารมาก่อน จึงมีความปรารถนาที่จะช่วยประเทศชาติตามวิสัยที่สมณเพศพึงกระทำได้ ปรารภที่จะสร้าง ‘พระกริ่งประภามณฑล’ ขึ้น เพื่อแจกจ่ายให้แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและลูกบ้านทวายที่ไปออกสนามรบ ท่านจึงเข้าเฝ้า สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อทูลขออนุญาตจัดสร้าง และอาราธนาทรงเป็นประธานจุดเทียนชัยและกำกับการบวงสรวงจนเสร็จพิธี ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงประธานอนุญาตให้จัดสร้าง พร้อมมอบแผ่นทองลงอักขระและชนวนพระกริ่งรุ่นเก่าๆ ที่สะสมไว้เพื่อใช้เป็นชนวนในการหล่ออีกด้วย พระกริ่งฟ้าผ่า  ปี 2480 พิธีเททองและพุทธาภิเษกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยในขณะทำพิธีฯ ได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้นถึงสองครั้งสองคราต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระสังฆราช (แพ) และผู้มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ครั้งแรก ท้องฟ้าที่สว่างไสวอยู่กลับมืดครึ้มลง แล้วเกิดอสุนีบาตผ่าลงมากลางปริมณฑลพิธี จนเป็นที่โกลาหลแก่ผู้ร่วมพิธี แต่ปรากฏว่าไม่ใครได้รับอันตรายเลย ครั้งที่สอง ขณะที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงจับสายสิญจน์ในพิธีเททอง สายสิญจน์เส้นหนึ่งได้ถูกลมพัดตกลงในเบ้าหลอมเนื้อโลหะที่กำลังร้อนแต่กลับไม่ไหม้ไฟ สร้างความเลื่อมใสศรัทธายิ่ง สมเด็จพระสังฆราช (แพ) จึงทรงประธานนามพระกริ่งนี้ว่า "พระกริ่งนิรันตราย" แต่คนส่วนใหญ่มักเรียก "พระกริ่งฟ้าผ่า" ตามเหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น และเรียกติดปากกันมาจนทุกวันนี้ พระกริ่งฟ้าผ่า –หน้า พระกริ่งฟ้าผ่า หรือ พระกริ่งนิรันตราย หลวงพ่อกึ๋น วัดดอนยานนาวา  สร้างด้วยวิธีการเททองหล่อแบบโบราณและบรรจุกริ่งในตัวเหมือน ‘พระกริ่งวัดสุทัศน์’ กระแสของเนื้อโลหะเป็นทองผสม วรรณะจะออกเหลืองอมน้ำตาล ที่อมเขียวจะมีจำนวนน้อย มี 2 ขนาด คือ ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก แต่พุทธลักษณะองค์พระจะเหมือนกันทุกประการ ดังนี้ พระกริ่งฟ้าผ่า –หลัง องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เหนืออาสนะบัวคว่ำบัวหงาย 7 กลีบ ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบบัวจีนพระหัตถ์ข้างซ้ายถือหม้อน้ำมนต์หน้าพระเพลาเป็นผ้าทิพย์ด้านหลังพระเศียรเป็นประภามณฑล ลักษณะกลม ประดับด้วยเม็ดไข่ปลานูน หลังประภามณฑลแบนเรียบ มีจารอักขระขอม ‘ตัวอุ’ เกือบทุกองค์ พระเกศเป็นหนามขนุน พระนลาฏปรากฏอุณาโลม มีทั้งแบบ เม็ดไข่ปลานูน และ รอยตอกด้วยตุ๊ดตู่ลึกลงไป พระพักตร์ค่อนข้างยาวรีคล้ายผลมะตูม พระเนตรเป็นแบบเนตรเนื้อ พระกริ่งฟ้าผ่า -ก้น พระกริ่งฟ้าผ่า หลวงพ่อกึ๋น วัดดอนยานนาวา นับเป็นพระกริ่งรุ่นเก่าที่น่าสะสมมาก แต่ปัจจุบันค่อนข้างหาดูหาเช่าของแท้ๆ ค่อนข้างยาก จึงขอชี้จุดเอกลักษณ์เฉพาะในการพิจารณาเบื้องต้น คือ ด้วยความเก่าแก่ขององค์พระซึ่งถ้านับถึงปัจจุบันราว 76 ปี ดังนั้น เมื่อนำแว่นขยายมาส่องดูจะสังเกตเห็นผิวขององค์พระเป็นลายมุ้งละเอียด ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจครับผม