“พัชรวาท” ดึงหน่วยงานแหล่งกำเนิดฝุ่นร่วมวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหา -ออกมาตรฐานรับมือฤดูฝุ่นจิ๋ว สื่อสารให้ประชาชนรับทราบข้อมูลให้ทันท่วงที ด้าน “อธิบดี คพ.” แนะเช็ก 2 แอปฯ Air4Thai – AIRBKK เป็นหลัก ป้องกันการสับสน
วันที่ 13 ธ.ค.2566 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในหลายพื้นที่และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ได้สั่งการไปยัง นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้เร่งรัดประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5
โดยนายปิ่นสักก์ กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว การถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นระบายออกยาก จึงทำให้ค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล แหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญคือภาคจราจรและขนส่ง ทำให้ค่าฝุ่นแตะเกินค่ามาตรฐานสีส้ม ในอนาคตจะเริ่มมีการเผาในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ยิ่งทำให้ค่าฝุ่นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นอีก หากควบคุมไม่ได้ในปัจจุบัน สำหรับพื้นที่ กทม.ที่เกิดฝุ่นพิษจากจราจรและการขนส่งนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรณรงค์ให้เข้มข้น เรื่องการหันมาใช้น้ำมันยูโร 5 โดยที่ไทยเริ่มปรับมาใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ผ่านมา ช่วยค่าฝุ่นในกทม.ลงได้ถึงร้อยละ 10 ควบคู่กับบำรุงรักษาเครื่องยนต์และตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้ดี จะช่วยลดการเกิดฝุ่นลงได้มากถึงร้อยละ 50 ของรถคันดังกล่าว และได้รับการประสานข้อมูลจากจิสด้า เพื่อแยกแยะจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ว่าเกิดจากการเผาป่าหรือภาคเกษตร เผานาข้าว ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งมายังกระทรวงฯ จากนั้นจะส่งไปยังจังหวัด เป็นซิงเกิ้ลคอมมานด์ ที่มีผู้ว่าราชการเป็นผู้สั่งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น เช่น มีข้อมูลจากจิสด้าระบุว่ามีการเผาไหม้นาข้าวในเขตจังหวัดภาคกลาง ทำให้ชี้เป้าจุดเกิดเหตุได้ และสั่งการแก้ไขในทันที
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า เราได้มีการตั้งศูนย์สื่อสาร ภายใต้คณะกรรมการสื่อสาร ที่มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน เพื่อให้สื่อสารว่าควรแก้ไขอย่างไร พื้นที่ไหน เวลาใด ขณะนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน กำลังทำเรื่อง เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและการสื่อสารรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“พล.ต.อ.พัชรวาท ได้วางระบบแนวทางแก้ปัญหาไว้ โดยมีอนุกรรมการและคณะทำงานวิชาการส่วนกลาง เพื่อวิเคราะห์ว่าปัญหาเกิดจากอะไร รวบรวมข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อให้มีมาตรการที่เหมาะสม และส่งข้อมูลให้ศูนย์ซิงเกิ้ลคอมมานด์ในระดับจังหวัด และระดับภาคที่มีแม่ทัพภาคเข้ามาช่วยแก้ปัญหา” นายปิ่นสักก์ กล่าว
อธิบดี คพ. กล่าวด้วยว่า นอกจากแอปพลิชันที่ใช้ในการสื่อสารอย่าง Air4Thai กรุงเทพฯ แล้ว จะมี AirBKK ที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน จึงอยากให้ใช้ 2 แอพนี้เป็นหลัก เพราะจะมีการเตือนที่ถูกต้อง ซึ่งหากใช้แอปฯ อื่น อิงมาตรฐานประเทศอื่น ค่าสีจะไม่เท่ากัน อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ และจากความตระหนักอาจกลายเป็นความตระหนก เช่น มีการถามว่า กทม.สีแดงแล้วทำไมไม่เวิร์คฟอร์มโฮม ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้ว่าฯ กทม.เตรียมความพร้อมแล้วว่าจะต้องสีแดงต่อเนื่อง 3 วัน แต่ค่ามาตรฐานของไทยยังไม่สีแดง แต่พอเราไปใช้มาตรฐานประเทศอื่น ที่มีการแบ่งสี 6 ช่วง 6 เฉด ทำให้เกิดการตระหนกเกิดขึ้น เป็นต้น