มกอช. เดินหน้าขับเคลื่อนงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ มุ่งยกระดับสินค้าเกษตรไทยในตลาดสากล

วันที่ 13 ธ.ค.66 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้เล็งเห็น และให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) โดยการดำเนินงานภายใต้ภารกิจหลักว่าด้วย การกำหนด ตรวจสอบรับรอง ควบคุม และส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร ตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาระหว่างประเทศในการกำหนดมาตรฐาน และแก้ปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป ในการขับเคลื่อนดังกล่าว มกอช. แบ่งเป็น 3 ช่วงการดำเนินงานให้ตรอบคลุมวงจรตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) ได้แก่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ

ระดับต้นน้ำ มกอช. ได้มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร จำนวนทั้งสิน 409 เรื่อง แบ่งเป็น มาตรฐานทั่วไป 400 เรื่อง และมาตรฐานบังคับ 9 เรื่อง มาตรฐานการผลิตยั่งยืน ได้แก่ มาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน มาตรฐานการผลิตกุ้งทะเลยั่งยืน มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มยั่งยืน โครงการ“แมลง”แหล่งอาหารอนาคต และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการใช้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนในอาหาร ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าร่วม จำนวน 50 ราย

ระดับกลางน้ำ มกอช. ได้มีโครงการและภารกิจที่ทาง มกอช. ได้นำมาตรฐานสินค้าเกษตรนำไปเผยแพร่ ประยุกต์ใช้ รวมถึงการอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิเช่น การดำเนินงานการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ  โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ที่ มกอช. ร่วมกับ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก โครงการพัฒนาระบบบริการภาครัฐ หรือระบบ CAB Service ระบบ TAS-License 

ระดับปลายน้ำ มกอช. ได้จัดทำโครงการและภารกิจที่พัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการส่งต่อผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ให้ถึงมือผู้บริโภค ได้แก่ โครงการส่งเสริมการบริโภคและใช้วัตถุดิบสินค้า Q (Q market) โครงการตรวจรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้า Q ประเภทโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) โครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) และ Q Restaurant Premium และ เว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน- ออนไลน์ DGT Farm เว็บไซต์รวบรวมสินค้าเกษตรที่ได้รับมาตรฐาน กว่า 1,739 รายการ

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มกอช. ได้มีผลงานที่เป็นประจักษ์ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้สินค้าเกษตรไทยน่าเชื่อถือในตลาดโลก ได้แก่ การประสบความสำเร็จในการเจรจาส่งออกผลมังคุดสดไปญี่ปุ่นโดยไม่ต้องอบไอน้ำ ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้จะส่งผลช่วยลดต้นทุนการผลิตและการส่งออกมังคุดของไทย ช่วยคงความสดใหม่และไม่สร้างความเสียหายให้กับผลมังคุดสด อีกทั้งช่วยเพิ่มอายุการเก็บรักษาของมังคุด นอกจากนี้ มกอช. ยังได้ทำการเปิดตลาดเนื้อเป็ดปรุงสุกจากไทยไปออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเด็นการหารือภายใต้กรอบการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร (SPS Expert Group) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย – ออสเตรเลีย ในการเปิดตลาดในครั้งนี้จะส่งผลช่วยผู้ประกอบการไทย สามารถที่จะส่งออกสินค้าประเภทเนื้อเป็ดปรุงสุกไปออสเตรเลียได้ โดยการส่งออกมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคออสเตรเลีย ก็จะมีทางเลือกในการเลือกซื้อและบริโภคสินค้าประเภทเนื้อเป็ดปรุงสุกจากเพิ่มมากขึ้นด้วยด้วยเช่นกัน

“มกอช. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกโดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ นั่นคือ การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่องเพื่อครอบคลุมความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลง อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด มาตรฐานบังคับโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียน อีกทั้ง มกอช.ยังเล็งเห็นถึงการพัฒนาระบบดิจิทัล รวมถึงไปการขยายผลพัฒนาระบบ QR Trace on Cloud และ DGT Farm ทั้งนี้ มกอช. ยังมุ่งมั่นในการส่งเสริม และพัฒนาบุคลากรด้านมาตรฐาน ทั้ง Q อาสา และบุคลากรในสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาระบบ e-learning ด้านมาตรฐาน โดยขยายวิชา เพิ่มเติมจากมาตรฐาน GAP พืชอาหาร และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ไปยังมาตรฐานที่สำคัญอื่นๆ ภารกิจทางด้านการเจรจา มกอช. ยังคงมุ่งหน้าผลักดันในด้านการเจรจาให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตร และแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ในระดับสากล รวมไปถึง การพัฒนาระบบการอนุญาต การกำกับดูแลการนำเข้าส่งออกตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มกอช. มุ่งมั่นดำเนินการตามภารกิจหลักขององค์ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ว่า ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เพื่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยที่ดีขึ้น” เลขาธิการ มกอช. กล่าว