เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่กระทรวงศึกษาที่การ นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก นางสาวอังคณา   อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และตัวแทนภาคีเครือข่ายองค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัวและภาคประชาสังคม กว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือที่มีองค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัวและภาคประชาสังคม 100 องค์กรร่วมลงชื่อถึง พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านทาง นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ  เพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้อง หลังมีคำพิพากษากลุ่มครูและรุ่นพี่ข่มขืนนักเรียนที่จังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “นักเรียนต้องปลอดภัย หยุดคุกคามทางเพศ”

นางทิชา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่นักเรียนหญิงวัย 14 ปี ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ออกมาเปิดเผยว่าถูกครูในโรงเรียนของตนเองจำนวน 6 คน ร่วมกับรุ่นพี่อีก 2 คน ข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่อง ผู้ปกครองจึงพาเข้าแจ้งความและมีการจับกุมดำเนินคดีโดยมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ร่วมกับบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดมุกดาหาร กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าให้การช่วยเหลือ เยียวยาและผลักดันให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้เข้าสู่การคุ้มครองพยาน ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดกระบวนการเสริมพลังใจและจัดทนายความของมูลนิธิเป็นทนายโจทย์ร่วม  ให้การช่วยเหลือต่อสู้จนล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ศาลมุกดาหารได้อ่านคำพิพากษาจำคุกจำเลย 6 คน ตลอดชีวิต และให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งรวมเกือบ 3 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ส่วนครูอีก 2 คน ศาลยกฟ้องด้วยเหตุพยานหลักฐานยังไปไม่ถึง

ทั้งนี้ เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในสถานศึกษา กว่า 100 องค์กร เห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยกับนักเรียนในความดูแลของกระทรวงศึกษา และเกิดจากการกระทำของบุคลากรทางการศึกษาเอง สะท้อนถึงวัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาของไทย เครือข่ายจึงขอเรียกร้อง ดังนี้ 1. เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนที่เป็นการละเมิดกฎหมาย กระทรวงศึกษาทำหน้าที่เป็นเจ้าทุกข์ร่วมในการแจ้งความและฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญา ประสานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กผู้เสียหายและผู้ปกครอง ช่วยจัดการให้ถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพและได้รับการเยียวยาทางจิตใจโดยด่วน 2.หากสอบสวนพบครูหรือบุคลาการทางการศึกษาอื่นล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ให้กระทรวงศึกษาลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด ถอนใบประกอบวิชาชีพครู ไม่ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรงเด็ดขาด 3. รัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษารีบดำเนินการเอาผิด ป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงช่วยเหลือผู้กระทำผิด ต้องรีบลงพื้นที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้เสียหาย ครอบครัว รวมถึงครู นักเรียนที่ไม่ได้กระทำผิด

“4. เร่งจัดเวทีระดมสมองจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนานโยบายและมาตรการเชิงรุกในการป้องกัน แก้ไขปัญหาที่ปฏิบัติได้จริง สำหรับโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ 5. ทบทวนการทำงานของศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) และพัฒนาให้มีความเป็นอิสระ เป็นมิตรต่อผู้เสียหาย  มีองค์กรภายนอกที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศเข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบและเข้าถึงกลไกนี้อย่างกว้างขวาง 6. ให้การศึกษาแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก การเคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ และมีแนวปฏิบัติเพื่อสร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ และ7. ขอให้ประชาชน ผู้ปกครอง  ช่วยจับตา สอดส่องความผิดปกติของครู นักเรียน และโรงเรียนที่อาจจะนำไปสู่การคุกคามทางเพศ  เพื่อให้เกิดการป้องปราม ตัดวงจรที่จะนำไปสู่ความเสียหาย” นางทิชา กล่าว
 
ด้านนางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายสงเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงทางเพศในปี พ.ศ.2564 จากหนังสือพิมพ์จำนวน 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงทางเพศจำนวน 98 ข่าว ครึ่งหนึ่งของข่าวกลุ่มผู้ถูกกระทำอายุ 11-15 ปี   ร้อยละ 60 ผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก วัยรุ่นและนักเรียน  ร้อยละ 16 ของข่าวผู้กระทำเป็นบุคลากรทางการศึกษา  ที่น่าสนใจเมื่อลงรายละเอียดในข่าวพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับยาเสพติดเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญร้อยละ 38 และร้อยละ 19 ตามลำดับ  สอดคล้องกับข้อเท็จจริงกรณีมุกดาหารที่พบว่าหลังบ้านพักครูจะพบกองขวดเหล้าเบียร์จำนวนมาก   จุดที่น่าสนใจมาก ๆ คือเหตุการณ์นี้ไม่ได้พึ่งเกิดหรือเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว  เป็นความต่อเนื่องยาวนาน  ทำไมคนในพื้นที่จึงไม่เห็นความผิดปกติ   เพราะหากช่วยกับจับตา เฝ้าระวัง และเมื่อพบเห็นความผิดปกติแล้วมีกระบวนการป้องปรามเหตุการณ์อาจจะไม่บานปลายมาขนาดนี้   เด็กอาจจะได้รับการปกป้องที่ดี   ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชน  คนในพื้นที่  นักเรียน  รวมถึงครูที่ไม่ได้อยู่ในขบวนการ  จึงมีความสำคัญมาก  ที่จะช่วยกันส่งสัญญาณ  

“จากคำพิพากษานี้จึงเป็นอุทาหรณ์สำคัญกับคนที่จะเป็นครู  ในจรรยาบรรณวิชาชีพและความเมตตาต่อลูกศิษย์  ต้องไม่ล้ำเส้นเด็ดขาด  และควรถึงเวลาที่กระทรวงจะปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการเคารพเนื้อตัวร่างกาย  สิทธิ  การให้เกียรติกันอย่างจริงจังเสียที” นางสาวอังคณา กล่าว