วันที่ 12 ธ.ค.66 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า...

ต่อจากนี้ไป พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เหมือนเดิม พรรคจะใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงจนต่ำสิบหรือไม่ ยังไม่แน่ ที่แน่คือ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เรามาลองย้อนกลับไปดูพรรคประชาธิปัตย์ในเชิงยุทธศาสตร์กันสักหน่อย

ในทางธุรกิจ ยุทธศาสตร์การแข่งขัน(competitive strategy)มี 3 แบบหลักๆ

1. ยุทธศาสตร์ต้นทุนต่ำ เป็นยุทธศาตร์ที่แข่งขันด้วยราคาที่ต่ำกว่าสำหรับทุกคน ไม่เลือกเน้นเฉพาะกลุ่ม

2. ยุทธศาตร์สร้างความแตกต่าง เป็นยุทธศาสตร์ที่พยายามสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยไม่เลือกเน้นเฉพาะกลุ่มเช่นกัน

3. ยุทธศาตร์เลือกเน้นเฉพาะกลุ่ม หรือเรียกว่า focus เป็นยุทธศาสตร์ที่เลือกเน้นหรือ focus ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยอาจแข่งขันในกลุ่มนั้นด้วยการสร้างความแตกต่าง หรือจะเลือกที่จะแข่งขันด้วยราคาก็ได้ ในกลุ่มคนที่เลือกเน้น

แต่ไหนแต่ไรมา คนที่เลือกประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง และมักเป็นคนที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง เมื่อเกิดพรรคไทยรักไทย ซึ่งเลือก focus ที่คนรากหญ้า และออกนโยบายที่โดนใจคนรากหญ้า จนชนะการเลือกตั้ง อย่างถล่มทลาย ในขณะที่นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างเป็นนโยบายที่แทงกั๊ก ไม่ focus ที่จุดแข็งของตัวเองคือคนชั้นกลางให้ชัดเจน จะเรียกว่าไร้ยุทธศาสตร์การแข่งขันก็ไม่ผิด ผลก็คือพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าต่อพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ตามลำดับ

หลังรัฐบาลคสช ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาปัตย์ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่าเป็นการไม่แทงกั๊กเป็นครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ คือ focus ที่คนที่ไม่ต้องการให้พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลเนื่องจากเป็นพรรคที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่โชคร้ายที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ยังคงกลัว “ระบอบทักษิณ” คนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์จึงหันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐกันเกือบหมด คนรากหญ้ายังคงเลือกพรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย ส่วนคนรุ่นใหม่ก็หันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้ไปอีกครั้ง ทำให้คุณอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และในที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้งคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค พรรคประชาธิปัตย์ก็ตัดสินใจสวนทางกับจุดยืนของคุณอภิสิทธิ์ โดยเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ คุณอภิสิทธิ์จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส.ในเวลาต่อมา

การเลือกตั้งครั้งหลังสุด พรรคประชาธิปัตย์จึงมีคุณ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นแม่ทัพบัญชาการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีตั้งแต่ที่คุณจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค เลือดเร่ิมไหลออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เช่น คุณกรณ์ จาติกวณิชย์ คุณหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม คุณพีรพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ คุณถาวร เสนเนียม ทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และพรรคประชาธิปัตย์ก็กลับไปแข่งขันในการเลือกตั้งแบบไร้ยุทธศาสตร์เช่นเดิม ผลคือ ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.รวมทั้ง 2 ประเภทเพียง 25 คนเท่านั้น ไม่ได้ ส.ส.ในกทม แม้แต่คนเดียวไม่พอ ยังพ่ายแพ้ในภาคใต้ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกด้วย ทำให้คุณจุรินทร์ต้องประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคตามรอยคุณอภิสิทธิ์ไปอีกคน คุณเฉลิมชัยซึ่งเคยประกาศว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิตหากพรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ยังสงบนิ่งไปแสดงออกแต่อย่างใด

ย้อนกลับไปในยุคที่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ค่อนข้างชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์เริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นพวกที่มี DNA ของประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน นำโดยคุณชวน หลีกภัย และคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคอย่างไม่เปลี่ยนแปลง อีกฝ่ายนำโดยคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน และคุณเดชอิศม์ ขาวทอง โดยเฉพาะคุณเดขอิศม์ ได้มีพฤติกรรมที่แข็งกร้าวท้าทายผู้อาวุโสของพรรคอย่างเปิดเผยและดูเหมือนพร้อมที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคใดก็ได้ทั้งสิ้น คุณเดชอิศน์เองยอมรับว่าบินไปฮ่องกงก่อนการเลือกตั้งและได้พบกับคุณทักษิณ แต่ก็เหมือนกับคุณธนาธร คืออ้างว่าไม่ได้ไปคุยเรื่องการเมือง หากไม่มีคุณชวนเสนอให้งดออกเสียงในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ก็คงเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยไปแล้ว กระนั้นก็ยังมี ส.ส.บางคนไปลงคะแนนให้คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อคุณจุรินทร์ลาออก ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ต้องแข่งขันกันขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อให้พรรคเดินไปในทิศทางที่ต้องการ มีการชิงไหวชิงพริบกันจนการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคต้องล่มแล้วล่มอีกถึง 2 ครั้ง ฝ่ายคุณเฉลิมชัยได้เปรียบตรงที่มีส.ส.ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มตัวเองถึง 21คน จากส.ส.ทั้งหมด 25 คน จึงได้เปรียบเนื่องจากตามข้อบังคับพรรคจะให้นำ้หนักคะแนนเสียงของส.ส.ปัจจุบันถึง 70% และคนอื่นเช่น อดีตส.ส.และรัฐมนตรีเพียง 30% ฝ่ายคุณเฉลิมชัยส่งคุณ นราพัฒน์ แก้วทอง เข้าชิงตำแหน่ง และจู่ๆก็มีคุณวทันยา บุนนาค ประกาศจะลงสมัคร ซึ่งโดยคุณสมบัติของคุณวทันยา ยังไม่สามารถลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคได้ เพราะยังเป็นสมาชิกไม่ครบ 5 ปี นอกจากจะได้รับการยกเว้นด้วยคะแนนโหวต 3 ใน 4 และก็ไม่แน่ชัดว่า คุณวทันยายืนอยู่กับฝ่ายใดแต่คงไม่ใช่ฝ่ายคุณเฉลิมชัยแน่

ในที่สุดดูเหมือนส.ส.ฝ่ายคุณเฉลิมชัย จะต้องการตัวคุณเฉลิมชัยเป็นหัวหน้าพรรค หรือคุณเฉลิมชัยต้องการเป็นหัวหน้าพรรคเสียเองก็ไม่ทราบ แต่เนื่องจากคุณเฉลิมชัยเคยลั่นวาจาไว้แล้วว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต จึงต้องหาข้ออ้างด้วยการให้ส.ส.ทั้ง 21 คนเข้าชื่อกันไปขอให้คุณเฉลิมชัยมาลงแข่งขันเพื่อเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อกอบกู้พรรคประชาธิปัตย์ให้เดินหน้าต่อไปได้

เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป คอการเมืองก็รู้ทันทีว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อนแน่นอน เพราะมีส.ส.อยู่ในมือถึง 21 คน นับเป็นครั้งแรกที่สามารถบอกได้ 100 % ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรคก่อนการเลือกตั้งของพรรค เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่ทุกครั้งที่มีการเลือกหัวหน้าพรรค ผู้สมัครต้องแข่งขันกันจริงๆและไม่มีใครบอกได้ล่วงหน้าว่าผู้สมัครคนใดจะชนะ จุดนี้ความจริงเป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่เรียกได้ว่า เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของที่จะสั่งให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้

ในวันประชุมเลือกหัวหน้าพรรค คุณชวน หลีกภัย ผู้อาวุโสของพรรค ต้องออกมาอธิบายถึงอุดมการณ์พรรค อย่างยีดยาว และเสนอชื่อคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป แต่ดูเหมือนผู้เข้าประชุมจะฟังหูซ้ายทะลุออกหูขวา การโหวตเพื่อขอให้ยกเว้นให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคน้อยกว่า 5 ปีลงสมัครเป็นหัวพรรคได้ก็มีเสียงไม่พอต้องตกไป คุณวทันยาจึงถูกตัดสิทธิไปโดยปริยาย คุณอภิสิทธิ์ซึ่งคงมั่นใจว่าตัวเองเอาชนะคุณเฉลิมชัยไม่ได้แน่ หลังจากขอเวลานอกสนทนาตัวต่อตัวกับคุณเฉลิมชัย ก็ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค มีเสียงมือปรบมือเกรียวกราว และเมื่อคุณอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคด้วย เสียงปรบมือยิ่งดังกว่า คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อนจึงได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ไปแบบสมใจไร้คู่แข่ง

ทันทีหลังจากเลิกประชุม คุณสาธิต ปิตุเตชะ ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เท่านั้นไม่พอยังแสดงความเห็นว่า การไม่รักษาสัจจะของคุณเฉลิมชัย อย่าว่าแต่เป็นหัวหน้าพรรค เป็นนักการเมืองก็ยังไม่ได้ ต่อจากนี้สมาชิกพรรคเช่น คุณเกียรติ สิทธิอมร คุณสาธิต วงศ์หนองเตย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม และคนอื่นๆ ไม่แน่ว่าจะประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคตามไปด้วยหรือไม่

ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นเซียนการเมืองที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งบอกผมว่า คุณชวน ควรจะประกาศถอนตัวทางการเมือง หลังจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภา จะเป็นทางลงที่สวยที่สุด แต่ปัญหาของคุณชวนคือ รักประชาธิปัตย์มากเกินไป วันนี้จึงต้องเจ็บปวด แต่ด้วยวิสัยของคุณชวนคงไม่อาจละทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่ที่ต้องคิดหนักคือ ต่อจากนี้จะอยู่อย่างไร เพราะผู้บริหารพรรคชุดใหม่ดูเหมือนแทบไม่จะไม่มีใครที่มี DNA ของพรรคอยู่เลยสักคน และคงไม่มีใครให้ความสำคัญกับผู้อาวุโสอย่างคุณชวน คุณบัญญัติ และท่านอื่นๆอีกต่อไป

เรามาคอยติดตามกันต่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเดินต่อไปในทิศทางใด บทบาทของผู้อาวุโสของพรรคจะเป็นอย่างไร นี่คงเป็นเรื่องที่คอการเมืองต้องติดตามแบบตาไม่กระพริบกันเลยทีเดียว