วันที่ 10 ธ.ค.2566 เวลา 15.10 น.ที่รัฐสภา มีการจัดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนประชาธิปไตย สู่เส้นชัยรัฐธรรมนูญ“ มีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาการของรัฐธรรมนูญ” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.), นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต ส.ส.ร. นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีน.ส.อัญชิษฐา บุญพรวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดย ศ.พิเศษนรนิติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เปลี่ยนโครงร่างการเมืองใหญ่เลย และเป็นระบบรัฐสภาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ แต่มีความพยายามที่จะแก้ไขแต่ละครั้งก็วนไปวนมา แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ชัดเจนว่ามีการพัฒนาไปอีกขั้น เพราะมีองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบ และมีการมองกันว่าเป็นอำนาจที่ 4 ต่อจากอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ แต่ตนคิดว่าไม่ใช่ เพราะทั้ง 3 อำนาจมีการคานกัน แต่อำนาจที่ 4 ไม่มี เพราะถูกจำกัดอำนาจ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะไปยุ่งเรื่องอื่นไม่ได้นอกจากการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญก็ยุ่งไม่ได้ ถ้าเขาไม่ให้ตีความรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องดูว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญร่างขึ้นมาเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่จะพอใจหรือไม่ ไม่มีหรอกรัฐธรรมนูญออกมาแล้วพอใจทั้งประเทศ คนร่างฯยังไม่พอใจเลย เพราะไม่ได้ร่างฯคนเดียว ถ้าเขียนคนเดียวจะเอาแบบใดก็ได้ แต่มันต้องเอาใจคนอื่น
ด้านนายโภคิน กล่าวว่า เราต้องดูจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับว่า มีกระบวนการจัดทำโดยใคร อย่างไร โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.คณะราษฎร ซึ่งจุดสำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนอำนาจเป็นของราษฎรหรือของประชาชน ซึ่งไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองกี่ครั้ง ก็ไม่มีใครกล้าเขียนใหม่ว่าอำนาจไม่ใช่ของประชาชน เป็นการพัฒนาในทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติ แม้อำนาจจะเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์เป็นคนใช้อำนาจนั้น ผ่านทางคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล 2.คณะรัฐประหาร เพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งเราเห็นได้ชัดจากการให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และให้อำนาจมาก โดยใช้กลไกต่างๆ ในการแทรกแซงวุฒิสภาเข้าไปมีส่วนร่วม สิ่งที่คณะรัฐหารทำไม่มีพัฒนาการ มีเรื่องเดียวที่พัฒนาสุดยอด คือการนิรโทษกรรมตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือ 1.แบบที่ผู้กระทำนิรโทษกรรมตัวเอง แต่ออกเป็นพ.ร.บ. 2.แบบนิรโทษกรรมให้คนอื่น ทั้งนี้ มีพัฒนาการการนิรโทษกรรมไปในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีการระบุว่า การกระทำโดยการยึดอำนาจทั้งหลายไม่ว่าในทางใด ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เพี้ยนไปหมด และ 3.รัฐสภา และประชาชน
“ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพลวัตร 3 พลัง คือ 1.ฝ่ายอนุรักษนิยมหรือศักดินานิยม 2.ราชการอำนาจนิยม และ 3.รัฐธรรมนูญนิยม หรือประชาธิปไตย ทุกการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีผลจากการเปลี่ยนแปลงดุลยภาพของทั้ง 3 พลังนี้ ถ้าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เราต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในการให้ศาลวินิจฉัยว่า การรัฐประหารเป็นกบฏ ซึ่งศาลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ให้ถือเป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด แม้ไม่มีรัฐธรรมนูญ จะได้จบ อยากเห็นพัฒนาการตรงนี้ เพื่อให้การเมืองเดินต่อได้ ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ก็จะเละ จะอีก 100 ปี ก็เหมือนเดิม"นายโภคิน กล่าว
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นฉบับที่มักถูกยกมาอ้างกันว่าผ่านการทำประชามติ แต่ทุกคนคงจำกันได้ว่ามีพวกโฆษณาชวนเชื่ออยู่ฝ่ายเดียว ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ฝ่ายที่เห็นต่างจะถูกดำเนินคดีปิดปาก ประชาชนอยู่ในสภาวะถูกบีบคั้นว่า หากไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จะอยู่ต่อไป และอาจได้รัฐธรรมนูญที่แย่กว่านี้อีก รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 คือรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย คสช. และเพื่อ คสช. เพื่อให้รัฐบาลประยุทธ์สืบทอดอำนาจต่อไป และมีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้กลไกการถ่วงดุลอำนาจเสียหาย สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนเกือบจะไม่มีอำนาจตรวจสอบฝ่ายอื่น แต่ถูกอีกฝ่ายตรวจสอบอย่างเดียว
“โครงสร้างที่ถูกบิดเบือนเข่นนี้ การแก้รัฐธรรมนูญทีละมาตรา ไม่สามารถแก้ได้ เนื่องจากทุกอย่างถูกยึดโยงไว้ด้วยกันหมด จึงเป็นที่มาให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความจริงเนติบริกรไม่ได้เขียนไว้ให้แก้ แต่เขียนไว้ให้ฉีก แต่ถ้าเราโชคดีได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่ต้องฉีก ต้องมีการขับเคลื่อนโดยพลังของประชาชนมากพอสมควร ตามกลไกของการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดว่าต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้ง แต่ผมมองว่าการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังถือว่าไร้เหตุผล และเสียเวลา เช่นการทำประชามติครั้งแรก อย่างมากก็ทำได้เพียงแค่ถามว่าต้องการให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ โดยประชาชนยังไม่รู้เลยว่าใครจะมาร่าง หรือจะเอานายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มายกร่างอีกหรือไม่ อีกทั้งผลประชามติยังไม่ผูกพันกับความเห็นของบสมาชิกรัฐสภาด้วย ขณะที่การทำประชามติครั้งที่ 2 จะเห็นชัดเจนกว่าว่าใครจะมายกร่างรัฐธรรมนูญ”นายพงศ์เทพ กล่าว
ขณะที่นายปริญญา กล่าวว่า การทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจบที่ปี 2489 และในปี 2490 มีสว.แต่งตั้งขึ้นกลายมาเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้นระบบรัฐสภานั้นมีจุดอ่อนสำคัญคือฝ่ายบริหารมาจากเสียงข้างมากจึงทำให้คุมสภาผู้แทนราษฎรได้ และสภาฯจึงไม่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร มีแต่ฝ่ายค้านที่ตรวจสอบซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยที่ยกมืออย่างไรก็แพ้ เหมือนที่นายปรีดี พนมยงค์ ระบุว่าต้องให้หลักเสรีภาพคือหากเรื่องประโยชน์ของปวงชนขัดแย้งกับพรรค ผู้แทนต้องเลือกประโยชน์ของปวงชนไม่ใช่ประโยชน์ของพรรค แต่รัฐธรรมนูญปี 2517 ได้ตัดหลักนี้ทิ้งไป ทำให้สส.ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของพรรคการเมือง และรัฐบาลสามารถคุมผู้แทนประชาชนได้ แม้ประโยชน์ของรัฐบาลกับประโยชน์ ของประชาชนสวนทางกัน แต่ผู้แทนต้องยกมือให้ประโยชน์รัฐบาล
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2517 ได้ตัดเงื่อนไขเรื่องการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ก็ต่อเมื่อเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนเกิดขึ้นระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ และเรียกประชุมรัฐสภาไม่ทันท่วงที ผลลัพธ์คือเราจึงให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.มีค่าเท่ากับพ.ร.บ.ได้ แต่มีจุดเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2540 คือแทนที่จะให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการอย่างสมดุล ก็ไปหาอำนาจองค์กรใหม่ขึ้นมาคือองค์กรอิสระที่คาดหวังว่าจะได้คนดีที่เป็นกลาง โดยไปเอารูปแบบมาจากอเมริกาที่มีสว. จากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นคนเลือกศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ต่างๆ แต่เมื่อมาถึงฉบับปี 2560 สว.ที่มาจากรัฐประหารมีอำนาจเท่ากับสว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาสรรหาองค์กรอิสระและสว. เปรียบเสมือนรัฐประหารธิปัตย์ คืออำนาจสูงสุดอยู่ที่คณะรัฐประหาร
”สรุปว่าหลักการที่เรามาฉลองรัฐธรรมนูญคือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นการปกครองตนเองของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ เราจะเลือกพรรคที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่สุดท้ายเราก็จบที่การเลือกตั้ง และหากมีประชามติก็จบที่บัตรประชามติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังต้องทำอะไรกันอีกพอสมควร เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ใช่จิตวิญญาณของการฉลองรัฐธรรมนูญเลยแม้แต่น้อย“ ผศ.ดร.ปริญญา
รศ.ดร.วรรณภา กล่าวว่า หากพิจารณารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีความเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงถึงกันเสมอ สิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อมุมมองและพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย คือใครเป็นผู้ร่าง หากย้อนไปจะเห็นวัตถุประสงค์ของผู้ร่างว่าเพื่ออะไร ถ้าผู้ร่างมีที่มาที่ถูกต้องชอบธรรม ประชาชนมีส่วนร่วม การร่างนั้นคือการทำเพื่อประชาชน แต่หากผู้ร่างที่มาจากรูปแบบอื่น ก็จะถูกกำหนดให้ร่างด้วยวัตถุประสงค์อีกแบบ เราต้องไม่ลืมว่า วัตถุประสงค์เหล่านี้สามารถกำหนดโครงสร้าง อำนาจทางการเมือง ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้สถาบันทางการเมืองมีดุลยภาพ เราจะเห็นรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ มีอำนาจดุลยภาพที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งดุลยภาพของอำนาจ และอำนาจสถาบันทางการเมือง ไม่ได้หมายถึงแค่สถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอำนาจของประชาชนด้วย ซึ่งหากย้อนดูรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เราจะเห็นที่ทางของประชาชนในรัฐธรรมนูญแตกต่างกันออกไป เราไม่ค่อยเห็นฉันทามติของคนในสังคม อยู่ในรัฐธรรมนูญสักเท่าไหร่ แต่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญสามารถทำให้เกิดฉันทามติของคนในสังคมได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีควรจะตอบสนองฉันทามติของคนในสังคมได้ และหากดูรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 มีหลายจุดเด่นที่อาจเป็นจุดด้อย อย่างที่มาของและอำนาจของ ส.ว. สิ่งหนึ่งที่สำคัญคืออำนาจแปรผันตามที่มา เมื่อไหร่ที่เราให้อำนาจตัดสินใจแทนประชาชน เขาเหล่านั้นควรมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนด้วย และอีกเรื่อง การระบุเรื่องนิรโทษกรรมรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการนิรโทษกรรมแบบนี้จะยังดำรงอยู่ในอนาคต ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายในการร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต