มูลนิธิเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) จัดเสวนาและแถลงผลเปิดวิจัย "นโยบายเปิดสถานบริการผับบาร์ตี 4" โดย ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยผลการศึกษา “การประเมินผลทางเศรษฐกิจ สุขภาพและสังคม หากมีการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับนักท่องเที่ยวยามค่ำคืน ด้วยการขยายเวลาเปิดผับบาร์ สถานบันเทิง”  โดยทำการศึกษาวิจัยเริ่มในเมษายน ปี 2566 คือช่วงปลายรัฐบาลที่แล้ว ภายใต้กรอบ 3 แนวคิดหลัก คือ การเปิดเสรีการผลิต การเปลี่ยนแปลงเวลาขาย ยกเลิกห้ามขายแอลกอฮอล์ 14.00 - 17.00 น. และการมีพื้นที่เฉพาะ (โซนนิ่ง) ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 04.00 น. ใน 4 พื้นที่ ได้ ข้าวสาร กทม. พัทยา จ.ชลบุรี หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต และ หาดเฉวง เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภค และประเมินผลทางเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว 1,200 คน ใน 4 พื้นที่ คือ ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ, พัทยา จ.ชลบุรี, หาดป่าตอง ภูเก็ต และหาดเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แบ่งเป็นคนไทย 900 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 คน ในเดือนเมษายน 2566 โดยใช้สถานการณ์สมมติทั้งช่วงเวลาขาย และราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า  พฤติกรรมโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยวไทย 65% มีการดื่มนอกบ้านอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ดื่มที่ร้านอาหาร ในช่วงเวลา 17.00-20.00 น. ถ้าดื่มที่สถานบันเทิง ช่วงเวลาประมาณ 20.00 – 23.00 น. ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดื่มเริ่มตั้งแต่ 14.00 -17.00 น. คิดเป็น 25% ส่วนการดื่มช่วงเย็นอยู่ที่ 50%  ในขณะที่กว่า  67% จะดื่มช่วง  20.00 - 23.00 น.  และ 30% จะดื่มช่วง 23.00 - 02.00 น.

ส่วนพฤติกรรมถ้าเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น.ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ พบว่า ผู้ชายมีแนวโน้มบริโภคเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้หญิง กลุ่มอายุเป็น 25-44 ปี พร้อมระบุว่าการดื่มมีความสัมพันธ์กับเรื่องของรายได้ ยิ่งรายได้สูงมีแนวโน้มบริโภคต่อชั่วโมงเพิ่มมากกว่า ขณะที่นักเที่ยวต่างชาติ เพศชายดื่มมากกว่าเพศหญิง และ ไม่ได้มีความแตกต่างของพฤติกรรม ส่วนปริมาณการดื่มเพิ่มมากขึ้นอย่างไรหากเปิดช่วงเที่ยงคืนถึงตี 4 พบว่า กรณีราคา 70 บาท คนไทยบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ชั่วโมง อยู่ที่ 1.79 หน่วยดื่มมาตรฐาน ส่วนต่างชาติจะสูงกว่าอยู่ที่ 2.248 หน่วยดื่มมาตรฐาน แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณที่จะบริโภคเพิ่มขึ้นลดลง อย่างราคา 160 บาท ดื่มเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 หน่วยดื่มมาตรฐาน ต่างชาติอยู่ที่ 1 หน่วย

และหากคำนวณปริมาณการดื่มทั้งปีของนักท่องเที่ยวใน 4 พื้นที่ที่สำรวจ  คนไทยจะดื่มประมาณ 9 ล้านหน่วยมาตรฐาน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 43 ล้านหน่วยมาตรฐาน และเมื่อคูณกับต้นทุนด้านเศรษฐกิจ  สุขภาพและสังคม โดยอิงจากงานวิจัยที่ผ่านๆ มา  จะพบว่าต้นทุนที่จะเกิดแก่สังคมจะอยู่ที่ประมาณ 258 ล้านบาท  จึงสามารถสรุปได้ว่าการขยายเวลาขายพื้นที่พิเศษโซนนิ่ง ปริมาณบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น มาตรการช่วยลดการบริโภค คือ การเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นเรื่องอุบัติเหตุ และประเด็นด้านสุขภาพอื่น ๆ นอกจากนี้ ใน 4 พื้นที่นี้ ร้อยละ90 นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ใช้การเดินทางสาธารณะ แต่บริการในพื้นที่ต่างจังหวัดค่อนข้างลำบาก ภาษีที่เก็บได้ หากนำมาปรับปรุงการเดินทางสาธารณะให้ดีขึ้น อาจช่วยลดอุบัติเหตุและค่ารักษาพยาบาลที่จะเพิ่มขึ้น

ด้าน ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 3,083 คน ใน 12 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศต่อนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิง จากตี 2 ไปเป็นตี 4 ภาพรวมคนมีแนวโน้มเห็นด้วยกับการขยายเวลา 21 % ไม่เห็นด้วย 53% แต่ถ้าไปจำกัดพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษ อย่างเช่น ซอยนานา ข้าวสาร สีลม ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ โอกาสเห็นด้วยจะขยับขึ้นมา 39%  อีก 33% ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ การศึกษาในภาพรวมพบว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างมองไม่เห็นประโยชน์เกี่ยวกับนโยบายนี้ มีเพียง 1 ใน 4 โดยฝ่ายที่มองเห็นประโยชน์ โดยให้เหตุผลอันดับหนึ่งว่าทำให้มีเวลาดื่ม กิน เที่ยวมากขึ้น และพบว่า 75.4% ห่วงเรื่องเมาแล้วขับ 64.8% ห่วงว่าจะดื่มมากขึ้น มีเพียง 10% ที่บอกว่า ไม่กังวลใดๆ พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลจัดโซนนิ่งสถานบันเทิง ควบคุมอายุนักท่องเที่ยว ตรวจจับปัญหายาเสพติด เข้มงวดการรักษาความสงบเรียบร้อย ตรวจตราผู้ขับขี่ยานพาหนะ ตรวจตราแหล่งมั่วสุมยามค่ำคืน  

“การรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายนี้ยังน้อยเกินไป โดยเฉพาะความกังวลเรื่องผลกระทบต่างๆ มีแต่พูดถึงข้อดีแต่ด้านผลกระทบและแนวทางควบคุมป้องกันยังพูดถึงไม่มาก แม้กระทั่งพื้นที่ท่องเที่ยวเองก็พูดเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุ แต่ปัญหาเมาแล้วขับจะจัดการอย่างไร จะป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้อย่างไรยังไม่มีการพูดถึง จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเป็นรูปธรรม”  ดร.สุริยัน กล่าว

ด้านภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายส่วนใหญ่เป็นห่วงว่าจะได้ไม่คุ้มเสียและต้องมีมาตรการด้านลดผลกระทบที่ชัดเจน หากมีการขยายเวลาเปิดผับ บาร์ เพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง จะมีปัญหาอุบัติเหตุความรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับในเขตโซนนิ่งให้ชัดเจน ปัญหาอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดแอกอลฮอล์ที่ยังขาดแคลนอยู่จะแก้อย่างไร ควรมีกองทุนเยียวยาให้แกผู้ได้รับผลกระทบ และกังวลว่าจะเพิ่มตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 12 ของความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นนโยบายขยายเวลานี้จึงมอว่าเป็นนโยบายที่อำมหิตและคิดน้อย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน