“อภิสิทธิ์” เปิดใจเคลียร์สารพัดปม “เสี่ยต่อ”สั่งพักประชุม ปิดห้องคุยสองต่อสอง สุดท้าย “อภิสิทธิ์” น้ำตาคลอแจ้งกลางที่ประชุมลาออกสมาชิกพรรค ลั่นกรีดเลือดเป็นสีฟ้า ไม่ไปพรรคอื่น
วันที่ 9 ธันวาคม 2566 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นัดประชุมใหญ่วิสามัญปชป. แต่ปรากฎว่าเวลาล่วงเลยไปกว่าครึ่งชั่วโมงถึงจะเปิดประชุมได้ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคและรักษาการเลขาธิการพรรค เป็นประธานการประชุม แจ้งว่าองค์ประชุมครบแล้ว 260 คน และขอเปิดการประชุมในเวลา 10.08 น. ทั้งนี้ ประธานแจ้งที่ประชุมทราบว่าการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งที่3 สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 9 ก.ค. และวันที่ 6 ส.ค. ไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ 250 เสียงตามที่กฎหมายกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แกนนำของพรรคทุกฝ่ายมาอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อและอดีตหัวหน้าพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อและอดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคและรักษาการเลขาธิการพรรค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เตรียมองค์ประชุมสำรอง จำนวน150คน เพื่อป้องกันองค์ประชุมล่ม
จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การเสนอชื่อหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชวน กล่าวตอนหนึ่งว่า นี่คือเห็นช่วงปลายของชีวิต ตนได้เห็นการเติบโต เปลี่ยนแปลง ล้มลุกคลุกคลานของพรรค พรรคถูกฟ้องยุบพรรค 2 ครั้ง ตนเป็นหัวหน้าคณะทีมสู้ และเราก็สู้จนชนะคดี ทั้งนี้ อยากให้เรารำลึกถึงบุญคุณนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ และนายเล็ก นานา เจ้าของที่ดินของที่ตั้งพรรค วันนี้มีนายยุพ นานา ลูกของนายเล็ก นานา มาร่วมประชุม ตนหวังว่าพวกเราเรียนรู้ความผิดพลาด ตนไม่เคยคิดให้พรรคเป็นพรรคอะไหล่ หรือพรรคประกอบ ไม่อยากให้ใครมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคสุดท้ายที่จะพิจารณา ดังนั้น ในครั้งนี้ขอเสนอนายอภิสิทธิ์ เพราะเห็นว่าสถานการณ์การเมืองคนที่จะเลือกมาต้องไม่ด้อยกว่าพรรคอื่น และเชื่อว่าจะนำพรรคไปสู่แนวทางประชาธิปไตย และฟื้นฟูพรรคได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้รับรองชื่อนายอภิสิทธิ์ครบ 169 เสียง
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าถามผลวันนี้มีเหตุผลอะไรที่ต้องกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ และตนไม่มีตำแหน่งทางการเมือง ต้องตอบว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องตอบรับ แต่ตนคิดเช่นเดียวกับนายชวน ว่าตนเป็นหนี้บุญคุณพรรค และมีคนคาดหวัง ไม่น่าเชื่อบางคนถึงกับโทรศัพท์ว่าหาตน แล้วบอกว่าตนเห็นแก่ตัวที่ไม่เข้ามากอบกู้พรรค ตนก็ต้องอธิบายว่าพรรคมีกระบวนการ ไม่ใช่ว่าใครนึกอย่างนั้นอย่างนี้แล้วมากำหนดได้ คนภายนอกส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ หลายเดือนที่ผ่านมาสิ่งที่ทำให้ตนประหลาดใจและสะเทือนใจ คือ เราที่อยู่ในห้องนี้ตระหนักเพียงใดว่าพรรคอยู่ในภาวะยิ่งกว่าวิกฤต ตนอาจประสบการณ์น้อยกว่านายชวน หลายคนบอกมีขึ้นมีลง ตนก็บอกว่ามีขึ้นมีลงแน่นอน แต่มีลงไม่ได้แปลว่าจะมีขึ้น ถ้าไม่เรียนรู้สรุปบทเรียนให้ชัดเจน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า บทเรียนข้อสรุปต่างๆตนไม่ได้คิดว่ามันยากจนเกินไป เราไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะโครงสร้างพรรค เพราะข้อบังคับพรรค หรือเพราะพรรคเราจน ตนอยู่กับพรรคมา30ปี ขอยืนยันว่า การสนับสนุนผู้สมัครของพรรค และการสนับสนุนพรรค ไม่มียุคใดที่ทำได้มากเท่ากับยุคของนายเฉลิมชัย แต่ความพร้อมที่มากที่สุดตรงนั้น กลับมาพร้อมกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุด ต้องยอมรับว่าที่เรามาถึงจุดนี้ เพราะประชาชนมองไม่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนหรือเป็นตัวแทนของความคิดอะไร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เขาบอกการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งเข้าเรียกฝ่ายอนุรักษ์ แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับเขา คำตอบเขาคือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี อดีตนายกฯ ส่วนฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบเขา เพราะเขาบอกว่า ประชาธิปัตย์ไปร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ ทางเดินไปข้างหน้าของพรรค จึงเป็นเรื่องของการค้นหาจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปัตย์ว่าที่ยืนของเราจะเป็นความหวัง และตัวแทนของความคิด ให้กับประชาชน ซึ่งความจริงไม่ได้ยาก สิ่งที่เรามีหรือเคยมี แล้วพรรคอื่นไม่มีมีหลายประการในอุดมการณ์ของพรรค คือองค์กรของเราใหญ่กว่าตัวบุคคลเสมอ อดีตหัวหน้าพรรคที่ผ่านมา 8คน จะอยู่สั้นหรือยาวไม่เคยเป็นเจ้าของพรรค เพราะถ้าใช้คำว่าคนที่ทำให้พรรคเคลื่อนไหว ตนก็ต้องตอบว่าพรรคคืออุดมการณ์
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า อุดมการณ์ของพรรคที่เราเคยพูดว่าเราเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เราต่อสู้มายาวนาน ที่เราต้อสู้กับพรรคเพื่อไทย หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ใช่เรื่องความแค้น แต่เป็นเรื่องการต่อสู้ทางความคิด ในสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องความถูกต้องของบ้านเมือง แต่ระยะหลังมีการประเมินว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้นเราต้องฟื้นฟูพรรค ถ้าเราคิดจะกลับมา เพราะเรามีความต่างจากพรรคการเมืองอื่นคือ เราไม่เคยกลัวเป็นฝ่ายค้าน ทั้งที่หลายพรรคเป็นได้แค่พรรครัฐบาล กับพรรครอร่วมรัฐบาล แต่เราไม่ใช่ ถ้าเรารักษาแนวทางแบบนี้เราก็มีโอกาสกลับมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงข้อบังคับพรรค เกี่ยวกับน้ำหนัก 70:30 ที่ใช้โหวตเลือกกรรมการบริหารพรรคว่า ตนเห็นว่าข้อบังคับพรรคการเมืองต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การที่บอกว่าตัวเลข70:30 ซึ่งเขียนในสมัยตน ถ้าไม่ดีทำไมไม่แก้ตอนนั้น ขอความกรุณากลับไปดูประวัติศาสตร์ ตัวเลข สัดส่วนต่างๆเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่ตัวเลข 70:30 เกิดขึ้นจากที่ขณะนั้นคำนวณว่าองค์ประชุมที่เป็นสส. หรืออดีตสส.มีจำนวน150คน แล้วคสช.เพิ่งยุบสาขาพรรคทั้งหมด เราต้องตั้งต้นทั้งหมด ต้องไปเริ่มจากรับบตัวแทนจังหวัดก่อน ตัวเลขที่ลงตัวที่สุดในขณะนั้นคือ70:30 ซึ่งทำให้คะแนนสส. และองค์ประชุมอื่นมีน้ำหนักไม่ต่างกันมาก แต่ให้สัดส่วนสส.มากหน่อย แต่สิ่งสำคัญที่หลายคนไม่พูดถึง คือ 70:30 เฉพาะตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปหยั่งเสียงสมาชิกทั้งประเทศ
“ครั้งที่แล้วกับครั้งที่ผ่านมามีการอ้างยกเว้น 70:30 เข้าใจได้ เพราะทั้ง 2ครั้งในการเลือกหัวหน้าพรรค ตอนท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และความพยายามในการเลือกหัวหน้าพรรคที่ผ่านมา มีความกังวลว่ากระบวนการหยั่งเสียงมันใช้เวลาพรรคอาจต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆก็มาขอยกเว้น ผมไม่แน่ใจว่าถูกต้องตามหลักการข้อบังคับตามกฏหมายหรือไม่ แต่ปัจจุบันนี้ผมไม่เข้าใจเหตุผลว่าจำเป็นต้องยกเว้น 70:30 หรือไม่ ในเมื่อเวลาล่วงเลยมาขนาดนี้แล้ว เราไม่คิดระดมสมาชิกต่างๆทั่วประเทศให้มีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของเรา ก็ไม่เป็นไร เมื่อพรรคตัดสินใจตามนี้แล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ
แต่ผมได้ข้อสรุปว่าวันนี้ไม่ใช่เรื่องใครแพ้หรือชนะ แต่วันนี้พรรคเดินต่อไม่ได้ ไม่มีความเป็นเอกภาพแท้จริง ผมลงแพ้ก็น่าจะมีปัญหา ผมชนะก็ยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนในห้องนี้มามาถามผมว่าทำไมไม่คุยกัน ต่อมาก็พาดพิงว่าผมไม่ยอมคุย ผมขอยืนยันว่าถ้าใครไปพูดอย่างนั้น ไม่จริง หลายคนพยายามพูดว่าให้คุยกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ ผมก็ไม่กล้าสอบถามเหตุผลถึงการปฏิเสธไม่พูดคุย แต่คำตอบชัดคือไม่คุย ฉะนั้นวันนี้เมื่อนายชวน เสนอชื่อผม ผมถามท่านรักษาการหัวหน้าพรรค พักการประชุมแล้วคุยกับผมหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ ระบุ
ต่อมานายเฉลิมชัย กล่าวว่า คนที่นายอภิสิทธิ์กล่าวถึง คือตน ก่อนหน้านี้เคยบอกไปว่าไม่มีอะไรจะคุย เพราะเคยประกาศว่าจะหยุดการเมือง นี่คือเหตุผล และขอกราบเรียนตรงนี้ คนเราอยู่ดีๆไม่มีใครพูดส่งเดช มีที่มาที่ไปทั้งหมด และที่มาที่ไปตนก็ไม่เคยพยายามที่จะไม่พูดตรงนั้น เพราะเป็นความรับผิดชอบของตน ตนอาจจะไม่ได้บอกว่ารักประชาธิปัตย์มากที่สุด แต่ก็ผูกพันมาตั้งแต่ปี 2518 ครอบครัวตนเป็นหัวคะแนนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ มันคือสายเลือด และก็ยึดมั่นในหลักการอุดมการณ์มาจนถึงทุกวันนี้เรื่องซื่อสัตย์ สุจริต100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นอะไรที่จะทำให้พรรคเดินไปได้ตนจะทำ เป็นคนที่คุยกับคนเยอะ หลายๆคนมันมีปมภายในที่ต้องคุยกัน
ตนเรียนท่านหัวหน้าว่าพร้อมที่จะคุยกับท่านได้ จะได้คุยกันว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เราก็คุยกันตรงๆ แต่จะคุยกับตน 2 คนใช่หรือไม่ ขอให้ท่านเชื่อมั่นหลักการอุดมการณ์เต็มร้อย ไม่ต้องกังวล และตั้งแต่เข้ามาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ 22 ปี ยืนยันประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ใคร และจะไม่มีวันยอม เชื่อตนได้ แต่ไม่อยากพูดมาก ไม่อยากจะเป็นข่าว เพราะว่ารู้ตัวว่า ตนต้องรับผิดชอบ
จากนั้นนายเฉลิมชัย สั่งพักการประชุม 10 นาที
ต่อมาเวลา 11.38 น. กลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุม พร้อมกับน้ำตาคลอว่า จากการพูดคุยเข้าใจตรงกันทุกอย่าง ได้เรียนรักษาการหัวหน้าพรรคจะขอถอนตัวจากการเป็นสมัครหัวหน้าพรรค ด้วยเหตุผลที่แจ้งให้ตนทราบ ขอลาออกจากสมาชิกพรรค แต่ยืนยันไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดเป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณี รับใช้บ้านเมืองวันข้างหน้า ถ้าช่วยพรรคในวันข้างหน้าได้ตนไม่ปฏิเสธ หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่จะทำงานได้สำเร็จตามที่นายเฉลิมชัยได้กล่าวไว้กับตน
จากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการเสนอชื่ออีกครั้ง โดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ เสนอชื่อนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่นายขยัน วิพรหมชัย อดีตสส.ลำพูนของพรรค เสนอชื่อน.ส.วทันยา บุนนาค มีเสียงรับรองเพียงพอ แต่เนื่องจากคุณสมบัติเป็นสมาชิกไม่ถึง 5 ปี และไม่เคยเป็นสส.ของพรรค ขัดกับข้อบังคับพรรค ข้อ31(6) และข้อ32(1 ) จึงต้องใช้เสียง 3ใน4 ของจำนวนผู้มาประชุม หรือ195เสียง เพื่อยกเว้นข้อบังคับดังกล่าว ปรากฎว่า น.ส.วทันยา ได้เพียง 139 เสียง เท่ากับที่ประชุมไม่อนุญาตให้ลงสมัคร
ด้านนายเฉลิมชัย ลุกขึ้นกล่าวความในใจ ภายหลังเข้าเคลียร์ใจส่วนตัวกับนายอภิสิทธิ์ ว่า การตัดสินใจของตนในวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ตนสร้างมาทั้งชีวิต ตนเข้าใจ ขอยืนยันว่าตนกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้าไม่เป็นสีอื่นเลย ตลอดเวลาที่ตนอยู่ในพรรคก็เคร่งครัด ยึดหลักการและอุดมการณ์ของพรรคไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนได้เรียนเรื่องนี้กับนายอภิสิทธิ์ด้วย ตนขอเรียนสั้นๆว่าตนมีความจำเป็น และอยากเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ตนจะทำให้พรรคมีเอกภาพ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคที่มีอยู่แล้ว
“ที่สำคัญที่ผมได้คุยกับนายอภิสิทธิ์เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา ผมได้ยืนยันกับนายอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เป็น แต่เราไม่เคยเป็นตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์มา 22ปี หลายสิ่งที่ผ่านมาอาจทำให้พรรคสะดุด ผมก็จะพยายามทำทุกอย่าง ผมมาทำงานในภารกิจหนึ่ง ผมจะพยายามทำให้พรรคมีเอกภาพ ทำให้ดีที่สุด และไม่มีวันทำลายหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์” นายเฉลิมชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายหลังนายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกสมาชิกพรรคกลางที่ประชุม ทำให้อดีตสส. และสมาชิกพรรคหลายคนถึงกับตกตะลึง น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล อดีตสส.กระบี่ นางกันตวรรณ ตันเถียร อดีตสส.พังงา น้ำตาซึม