สถานีตำรวจภูธรเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกับห้างสรรพสินค้าไทวัสดุ จัดฝึกอบรม “หนี ซ่อน สู้” ให้กับเจ้าหน้าที่ พนักงานห้างสรรพสินค้า เพื่อให้มีความพร้อมเฝ้าระวัง และรู้ทักษะวิธีเอาชีวิตรอด เมื่อเผชิญเหตุกราดยิง
9 ธ.ค.66 ที่ห้างสรรพสินค้าไทวัสดุ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.รุทธพล เนาวรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ มอบหมายให้ พ.ต.อ.จำรัส ศิริเลี้ยง ผกก.สภ.เมืองบุรีรัมย์ พ.ต.ท.ธนานนท์ ไชยสิน รอง ผกก.ป. สภ.เมืองบุรีรัมย์ พ.ต.ท.ณิชชธร ปูรณะปัญญา สวป. สภ.เมืองบุรีรัมย์ ร.ต.อ.สุมนัส นัดที รอง สวป. สภ.เมืองบุรีรัมย์ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ รถจักรยานยนต์ 191 ร่วมกับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ห้างสรรพสินค้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และพนักงานห้างสรรพสินค้าไทวัสดุ จัดฝึกอบรมซ้อมแผนเผชิญเหตุคนร้ายกราดยิง (Active Shooter) เพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ กรณีคนร้ายกราดยิง Active shooter ซึ่งมีทั้งภาคทฤษฎี และฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง โดยพนักงานและเจ้าหน้าที่จะฝึกไปพร้อมกัน
โดยวิทยากรได้ให้ความรู้ถึงวิธีการสังเกตผู้ก่อเหตุ รวมไปถึงวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยสิ่งที่ควรจับสังเกตมีทั้งดูการแต่งกายของผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่จะสะพายกระเป๋า ใส่เสื้อคลุม ที่ดูปกปิด มิดชิด เพื่อซ่อนอาวุธที่นำมา ท่าทางการเดินจะเป็นการก้าว ระยะสั้น ๆ เนื่องจากต้องประคองปืนขณะเดิน สังเกตท่าทางของคนรอบข้าง หากไม่น่าไว้วางใจ ควรอยู่ให้ห่าง และมองหาทางออกไว้ล่วงหน้า หากเกิดเหตุการณ์ สิ่งที่เราควรทำ “หนี – ซ่อน – สู้”
หนี (Run) เมื่อเผชิญเหตุ สิ่งแรกที่ต้องทำคือวิ่งหนีหาทางออกที่ปลอดภัยที่สุด โดยการมองหาประตู หรือทางออกฉุกเฉิน เพื่อออกจากสถานการณ์นั้นให้เร็วที่สุด เป็นไปได้ให้พาเพื่อนและคนรอบข้างออกไปด้วย ขณะวิ่ง ต้องพยายามเก็บเสียงให้เงียบและวิ่งให้ไวที่สุด อย่ากลับเข้าพื้นที่นั้นโดยเด็ดขาด
ซ่อน (Hide) หากวิ่งจนเจอทางตัน ถัดมาคือการซ่อน และข้อพึงระวังคือห้ามซ่อนหลังประตู เพราะประตูมักจะเป็นจุดแรก ๆ ที่ผู้ก่อเหตุจะเล็งเป็นเป้า และประตูก็ไม่สามารถกันกระสุนได้ ควรมองหาจุดที่กันกระสุนได้ หรือ หากเป็นห้องให้ล็อคกลอนและหาวัตถุที่มีน้ำหนักมาขวางประตูไว้ เมื่อหาที่ซ่อนได้แล้ว เราต้องอยู่ให้เงียบที่สุด ปิดระบบเสียงโทรศัพท์ หรี่แสงของโทรศัพท์ให้เหลือน้อยที่สุด รอจนกว่าสถานการณ์จะสงบลง
สู้ (Fight) เมื่อถึงทางออกสุดท้าย หนีไม่ได้แล้ว เราต้องหันหน้ามาสู้ เพื่อหาทางรอดอีกครั้ง อันดับแรก ควบคุมสติ มองหาสิ่งรอบตัวที่เป็นอาวุธได้ ปากกา ขาแว่น หรือหาของแข็งที่จับกระชับมือ มุ่งเป้าไปที่จุดอ่อนต่าง เช่น จิ้มตา ต้นคอ หรือ จุดอ่อนอื่นๆ เมื่อผู้ก่อเหตุเสียหลักให้พยายามหนี ให้เร็วที่สุด สำหรับการขอความช่วยเหลือนั้นเมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ สิ่งแรกตำรวจจะเข้าจัดการผู้ก่อเหตุก่อน เมื่อจัดการผู้ก่อเหตุได้แล้วจึงจะเข้าช่วยคนเจ็บตามมา
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สาธิตสถานการณ์จำลอง โดยจะมีคนร้ายเข้ามาในสถานที่ที่กำหนดแล้วกราดยิง เพื่อให้ผู้อบรมได้เห็นสถานการณ์จำลอง แล้วสามารถประยุกต์ใช้ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานที่โล่งแจ้ง เป็นต้น
พ.ต.อ.จำรัส ศิริเลี้ยง ผกก.สภ.เมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจเราแนะนำให้ประชาชนใช้หลักหนี ซ่อน และสู้ แต่หากจะสู้ต้องอยู่ในที่ปลอดภัยแล้วเท่านั้น อีกหนึ่งสิ่งที่อยากขอความร่วมมือจากประชาชนคือการช่วยสังเกตคนร้าย เพื่อเป็นข้อมูลให้กับตำรวจ สังเกตการแต่งกาย เสื้อผ้า เพศ วัย รูปร่าง สีผิว ตำหนิรอยสัก แผลเป็น หากมีโอกาสให้ถ่ายภาพวิดีโอและแจ้งตำรวจ 191 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือการปั่นกระแส ประชาชนต้องรายงานเฉพาะข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ฐากูร นัทธีศรี ผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 3 และ พล.ต.ต.รุทธพล เนาวรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ที่กำชับให้ทุกท้องที่เตรียมความพร้อมจัดทำแผนเผชิญเหตุประชาสัมพันธ์ซักซ้อมเจ้าหน้าที่ในหน่วยร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดตลอดเวลา