ปลัด มท. ร่วมมอบแนวทางปฏิบัติ "การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ" ให้กับผู้ว่าฯ ผู้บังคับการตำรวจ นายอำเภอ และผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ เน้นย้ำ ฝ่ายปกครองต้องบูรณาการร่วมกับตำรวจปราบปรามผู้มีอิทธิพลและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง พร้อมยก “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” คือ หลักในการแก้ไขหนี้นอกระบบและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (8 ธ.ค. 66) เวลา 10.30 น. ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และพลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมมอบแนวทางปฏิบัติ "การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ" อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต ผู้กำกับการสถานีตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นความตั้งใจอันแน่วแน่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ต้องทุกข์ยากกับการรับภาระที่ต้องชำระหนี้อัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่จะสามารถรับผิดชอบได้ อันส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของครอบครัว ความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงได้ประกาศให้ “ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ” และได้เป็นประธานในการ Kick off เดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนอย่างจริงจัง อันจะปลดเปลื้องความทุกข์และสร้างความเข้มแข็งและความสุขให้กับพี่น้องคนไทยในระดับครอบครัวควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานครได้บูรณาการประสานการทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามอำนาจหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีการเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบใน 76 จังหวัด และพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2566 มีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนทั้งในระบบออนไลน์และด้วยตนเอง ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต เป็นจำนวนมากกว่า 80,000 ราย มีมูลหนี้สูงเกือบ 4,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่คณะทำงานหนี้นอกระบบได้กำหนดไทม์ไลน์ไว้จะมีพี่น้องประชาชนมาลงทะเบียนจำนวนเกือบ 1 ล้านราย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ในขณะนี้ คณะทำงานหนี้นอกระบบของกระทรวงมหาดไทยได้มีการทำงานลักษณะคู่ขนาน กล่าวคือ กระทรวงมหาดไทยทำการรับลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 - 31 มีนาคม 2567 โดยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 จะเป็นห้วงของการเชิญเจ้าหนี้นอกระบบมาพูดคุยเพื่อพิสูจน์ความจริง และดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนของการไกล่เกลี่ย ซึ่งขณะนี้ก็มีในบางอำเภอได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยพบว่า ประสบความสำเร็จ และมีการตื่นตัวในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและงดในเรื่องของการเก็บดอกเบี้ยอัตราสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ควบคู่กับอีกส่วนที่สำคัญ คือ กระทรวงการคลัง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ธนาคารของรัฐเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ที่ถูกกฎหมายแทนเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งในส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการที่จะประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบ แล้วเข้ามารับความช่วยเหลือต่อไป อันจะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการปลดเปลื้องความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนแสนสาหัสในฐานะลูกหนี้นอกระบบ โดยกระทรวงมหาดไทยจะผลักดันขับเคลื่อนให้ข้าราชการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทำให้สิ่งที่เป็นความตั้งใจของรัฐบาล คือ “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้พี่น้องประชาชนให้ประสบความสำเร็จ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ตนอยากให้ทุกคนหลอมรวมหัวใจดวงเดียวกันในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากให้พ้นจากการเป็นทาสของหนี้นอกระบบ โดยมีเรื่องใหญ่ที่สำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรให้ลูกหนี้นอกระบบมาแสดงตน มาให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นจริง เพื่อพิสูจน์ ตรวจสอบ กลั่นกรอง สกัดเอาข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงออกมาให้เกิดความชัดเจนว่า หนี้นอกระบบที่มีอยู่มีมูลหนี้จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ทางกระทรวงการคลังได้มีข้อมูลที่เป็นจริงและสถาบันการเงินได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบต่อไป ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการสำรวจผ่านระบบ ThaiQM ในห้วงที่ผ่านมา พบว่ามีลูกหนี้นอกระบบประมาณ 260,000 กว่าราย ซึ่งได้ดำเนินแก้ไขไปจนเกือบหมดแล้ว เหลือแก้ไขประนีประนอมอีก 23,000 กว่าราย แต่จากการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 7 วันที่ผ่านมา ยังพบว่ามีลูกหนี้เข้ามาลงทะเบียนเป็นจำนวนมากถึงเกือบ 80,000 รายแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ ให้ประชาชน ผู้ได้รับความเดือดร้อนมาลงทะเบียนให้มากที่สุด

“ประการสำคัญ คือ ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือกันของฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ได้แบบ "สองเกลอหัวแข็ง" เช่น ความสำเร็จที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ที่สามารถจับกุมแก๊งทวงหนี้นอกระบบที่มาทำลายข้าวของภายในร้านส้มตำตามที่ปรากฏภาพข่าวตามสื่อออนไลน์ได้ แต่หากเราจะมองถึงเรื่องความยั่งยืนในระยะยาว สิ่งที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบระยาว คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงและความสุขอย่างยั่งยืนด้วยการน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตจนเป็นวิถีชีวิต เพราะหากดูจากสถิติของผู้มาลงทะเบียนจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่มีสถิติหนี้นอกระบบสูงมากส่วนใหญ่เป็นเมืองใหญ่ อาทิ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น ขณะที่จังหวัดเล็ก ๆ มีผู้ลงทะเบียนน้อย แสดงให้เห็นได้ว่าในจังหวัดเล็ก ๆ เหล่านั้น ผู้เป็นหนี้มีจำนวนน้อย เพราะมิได้อยู่ในเมืองใหญ่ และในพื้นที่จังหวัดเล็ก ประชาชนส่วนใหญ่ยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ทำให้ไม่เป็นหนี้สิน ทั้งการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” สร้างความมั่นคงทางอาหาร มีผักสวนครัว พืชสมุนไพรที่เป็นผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือน มีการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ในบริเวณพื้นที่ว่างโดยรอบบ้านเรือน หรือพื้นที่นอกบ้าน ทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องเบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นหนี้เป็นสิน พอมี พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น และในหลายพื้นที่ยังมีเหลือแบ่งปันจุนเจือทำบุญสุนทานอีกด้วย จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนผู้บังคับการตำรวจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ และทุกหน่วยงาน ได้ร่วมกันบูรณาการในการหนุนเสริมทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน สร้างการรับรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมให้เกิดการน้อมนำแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่ ส่งเสริมให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสในการที่จะทำมาหากิน ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ช่วยไปกระตุ้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการตลาดและกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้คนปลูกผักสวนครัว สวมใส่ผ้าไทย เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เพื่อเป็นอาหารประจำครัวเรือน และรวมกลุ่มในการที่จะแปรรูปผลผลิต ทำการตลาดต่อยอด สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำคู่ขนานไป และขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบให้พ้นจากความเป็นทาสยุคใหม่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และพร้อมที่จะบูรณาการเชิงรุกร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในทุกมิติอย่างครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามเจ้าหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง เป็นตัวการในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และการจัดให้มีสินเชื่อในระบบ เพื่อให้ประชาชนได้หลุดพ้นวงจรการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงการคลังมีระบบการให้ใบอนุญาตปล่อยสินเชื่อในระบบตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นช่องทางให้กับเจ้าหนี้นอกระบบที่อยากจะเข้าสู่ระบบ โดยสามารถมาขออนุญาตได้ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันเรามีการอนุญาต ขึ้นทะเบียนกว่า 1,232 ราย จึงขอฝากไปยังทุกหน่วยงานให้ดำเนินการกับคนที่ไม่สมัครใจในการไกล่เกลี่ย ขอให้พวกเราบูรณาการการทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะมีโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้การทวงถามหนี้อย่างไม่เป็นธรรม มีการข่มขู่คุกคาม ก็จะมีโทษทางอาญาตามกฎหมาย จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเป็นการบูรณาการกันอย่างจริงจัง และร่วมมือกันก็จะเกิดผลสำเร็จ

พลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยที่รับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการประชุมมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการตำรวจทุกหน่วยในสังกัด ตั้งแต่กองบัญชาการ กองบังคับการ และหัวหน้าสถานีตำรวจ ทั้ง 1,484 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการสั่งการระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยมีการกำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบเชิงบูรณาการ และมีการเตรียมการเพื่อปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล แบ่งออกเป็น 3 มิติ คือ 1) การบริการด้านข้อมูลรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบ ทางสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนและขอความช่วยเหลือ 2) การบังคับใช้กฎหมายหลังจากที่ได้รับเรื่องราวร้องเรียนร้องทุกข์ในระบบจากช่องทางต่าง ๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะนำข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาร่วมวิเคราะห์กับฐานข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ จากระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การคัดแยกประเภทเจ้าหนี้ จัดลำดับความสำคัญ และพิสูจน์ทราบการกระทำความผิด จากนั้นจะส่งเบาะแสข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ให้แก่สถานีตำรวจทั่วประเทศเพื่อจับกุมและดำเนินคดี 3) การไกล่เกลี่ยเชิงบูรณาการ ด้วยการลงพื้นที่ติดตามช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้กำชับให้ข้าราชการตำรวจทุกระดับปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ และไม่ให้เข้าไปมีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมทั้งทางตรงทางอ้อมกับผู้กระทำความผิด พร้อมที่จะร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง