ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง
ต้องยอมรับว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดผลกระทบติดตามมาหลายประการ และมีความรุนแรงมากขึ้นในด้านของการบีบบังคับชำระหนี้ซึ่งก็มีสภาพของการบังคับแบบนอกระบบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ในด้านของตัวบทกฎหมายที่จะมาจัดการดูแลในเรื่องนี้นอกจากมีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 แล้ว เราก็ไปไกลถึงขนาดมีการออกกฎหมายมากำราบปราบปรามเกี่ยวกับการทวงถาม บีบบังคับให้ชำระหนี้ คือ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งก็เป็นเพียงการป้องปรามได้ในระดับหนึ่ง แต่ในแง่ของการบังคับใช้นั้นยังกล่าวได้ว่ายังเป็นปัญหาอยู่ และมีการกระทำที่เป็นการท้าทายต่อกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของการปล่อยกู้นอกระบบก็ยังมีอย่างแพร่หลาย
หากพิจารณาดูให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่า รากเหง้าหรือต้นตอของหนี้นอกระบบนั้นมีสภาพของปัญหาที่ซับซ้อน กลายเป็นปัญหาที่มีหลากหลายมิติ มิใช่เป็นเพียงการเกี่ยวข้องหรือกระทำผิดกฎหมายเหมือนอาชญากรรมพื้นฐานทั่ว ๆ ไป แต่เป็นเรื่องที่มีปัจจัยหลักของปัญหาอยู่ที่เรื่องของเศรษฐกิจ คนที่จะกู้เงินหรือต้องยอมเป็นหนี้นั้นเป็นคนที่ต้องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นหลัก หากไม่มีเงินทุนก็อาจจะไปต่อไม่ได้ เกิดข้อจำกัดขัดข้องนานาประการ ทำให้ต้องมองหาแหล่งกู้ยืม การที่จะเข้าสู่ระบบการกู้ยืมที่เป็นทางการก็อาจมีข้อจำกัดในด้านของความน่าเชื่อถือหรือเครดิต ไม่มีหลักประกัน ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ จึงเป็นโอกาสของแหล่งเงินทุนนอกระบบที่มีความสะดวก รวดเร็ว กู้จำนวนเล็กน้อยก็ได้ สามารถลงทุนทำมาค้าขาย รู้ผลได้ภายในวันเดียว แต่ก็ต้องแลกกับการจ่ายดอกเบี้ยในจำนวนที่สูง เรียกว่าดอกโหดและสภาพการทวงถามบีบบังคับแบบทารุณ
แรกเริ่มเดิมทีเราจึงได้ยินคำว่า กู้เงินแขก กู้เถ้าแก่ ต่อมาก็ขยับขยายมาถึงนายทุนเงินกู้ระดับชาวบ้าน เป็นการปล่อยเงินกู้แบบรู้จักมักคุ้นกัน รู้ที่อยู่ รู้ข้อเท็จจริงของลูกหนี้ มีการตกลงพูดคุยผ่อนผันกันได้บ้าง ยอดเงินที่ปล่อยกู้ก็ไม่สูงมาก พอช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปตามสภาพนอกเหนือจากการพึ่งโรงรับจำนำ ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นนายทุนอาชีพที่มีทุนหนา ต้องการทำมาหากินโดยการปล่อยกู้กินดอกเบี้ยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีระบบการจัดการเป็นรูปแบบธุรกิจ แต่เป็นธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการขยับขยายไปถึงขั้นกระตุ้นชักชวนให้เกิดการกู้ เมื่อลูกหนี้หลวมตัวเข้ามาอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้แล้วก็ยากจะหลุดพ้นไปได้ โดยเฉพาะการติดตามรังควาญในขั้นตอนของการทวงหนี้ ตลอดจนการใช้กระบวนการทางกฎหมายบีบบังคับ
การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มักมุ่งไปที่การหาทางยุติปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เป็นหลัก เน้นการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งก็อาจทำให้ปัญหาคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อผ่านไปก็จะมีการกู้นอกระบบอีก จนกระทั่งในชนบท ชาวบ้านต้องเสียที่ดินทำกินไปเพราะหนี้นอกระบบก็มากมาย ทั้งนี้ เพราะต้นตอปัญหานั้นอยู่ที่ศักยภาพของลูกหนี้ในการเข้าถึงเงินทุนในระบบ แม้จะมีระบบไมโครแบงค์ แต่ก็อาจจะรองรับปัญหาไม่ได้ทั้งหมด
แนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั้น เห็นว่า แนวคิดกองทุนเงินในระดับท้องถิ่น ระดับชาวบ้านน่าจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่ต้องจมอยู่กับสภาวะจำยอมต้องเข้าเกี่ยวข้องกับวงจรหนี้นอกระบบ ซึ่งตัวอย่างของการแก้ปัญหาแบบธนาคารคนจนของประเทศบังคลาเทศ ก็เป็นแนวทางที่น่าศึกษาเพื่อปรับประยุกต์ใช้ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจึงต้องลงลึกไปที่ต้นตอของปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้าน จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง