อีกหนึ่งเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” ต้องเร่งมือแก้ปัญหาที่กำลังมาถึงขณะนี้และเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนไทยมากที่สุด คือ “หมอกควัน-ฝุ่นพิษ PM2.5” ที่หาทางออกกันมาตั้งแต่ปี 2562 จนเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลชุดนี้จึงได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กับเขาบ้าง หลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือ “บอร์ดฝุ่นชาติ” เพื่อเร่งรัดจัดทำแผนและกำหนดมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 อย่างเป็นระบบ และบูรณาการหน่วยงานภาครัฐให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาหมอกควัน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว
ความคืบหน้าของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ดังกล่าว นับเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยที่จะได้รับสิทธิ์ในการมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ ในช่วงที่ฝุ่นพิษ PM2.5 กำลังแพร่กระจายอีกครั้งในรอบปี เมื่อดูจากโครงสร้าง “บอร์ดฝุ่นชาติ” แล้ว เห็นการทำงานแบบองคพยพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เดินหน้าขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยมีการกำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การก่อสร้าง การคมนาคมและขนส่ง ตลอดจนการเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในไร่-นา หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่
ที่สำคัญ (ร่าง) กฎหมายฉบับนี้ ยังมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ที่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน คู่ขนานไปกับการหารือกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะช่วยแก้ปัญหาแบบองค์รวม เห็นการบูรณาการทั้งมาตรการและแนวทางกฎหมายแล้ว จึงอยากให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำของคนเมืองกับคนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ลดสาเหตุของปัญหา หาแนวทางป้องกัน และการเยียวยา ให้เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักดีว่าปัญหาฝุ่นพิษในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เกิดจากการเผาไหม้ซ้ำซากและไฟป่า ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เกือบ 100% โดยเฉพาะในพื้นที่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่การเกษตร จึงมีเป้าหมายลดพื้นที่ไฟไหม้ให้ได้ 50 % จากปี 2566 โดยมีแผนตรึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ควบคู่กับการจัดระเบียบการเก็บของป่า เช่น ผักหวาน เห็ดถอบ หน่อไม้ ที่ต้องทำงานร่วมกับชาวบ้านและหมู่บ้านมาร่วมดับไฟป่า ก็จะช่วยลดปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ไทยยังคงเดินหาหารือกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสปป.ลาวและเมียนมาภายใต้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” ซึ่งมีการหารือกันในทุกมิติ และล่าสุดได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนกับ สปป.ลาว และได้ตอบรับอย่างดีในการดำเนินยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาสุขภาพของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องให้ข้อมูลกับภาคประชาสังคมตามข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ถึงต้นเหตุของหมอกควัน-ฝุ่น PM 2.5 ให้สอดคล้องกับการกล่าวถึงในระดับสากล เช่น จากภาคการขนส่ง-ยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร การเผาป่า เพื่อดึงคนไทยให้ยืนยืนอยู่บนจุดยืนที่ถูกต้อง ไม่หลงเชื่อไปกับการชี้นำว่าต้นเหตุหลักของหมอกควันมาจากภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หนึ่งในวัตถุดิบหลักของสูตรอาหารสัตว์ ซึ่งความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและราคาดี จึงเป็นแรงจูงใจให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อปลูกข้าวโพดมากขึ้น โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
สำหรับภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ บริษัทขนาดใหญ่ได้ริเริ่มนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ในการจัดซื้อข้าวโพดเลี้ยง (Corn Traceability) มาใช้กันบ้างแล้ว โดยหลักการจะรับซื้อเฉพาะข้าวโพดจากเกษตรกรที่มีเอกสิทธิ์เท่านั้น เพื่อยืนยันว่าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า มีการปลูกตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว ปลอดจากการเผา เป็นต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล “เศรษฐา” ตัองผลักดันให้มีการนำระบบดังกล่าวมาใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น เน้นการตรวจสอบอย่างโปรงใสโดยมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภค ว่า ได้รับอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลควรเร่งจัดทำแผน Zoning การปลูกพืชให้เหมาะกับดิน สภาพแวดล้อมและปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุดช่วยเพิ่มรายได้ รวมถึงการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวและเมียนมา เพื่อหาจุดร่วมทางเศรษฐกิจที่สมประโยชน์ซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการและยั่งยืน ให้เห็นผลการแก้ปัญหาในแผนระยะสั้นภายใต้การบริหารจัดการอของรัฐบาลชุดนี้
โดย : บดินทร์ สิงหาศัพท์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม