เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในส่วนการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และสภาฯ และสว. ได้ตอบแบบสอบถามแล้วทั้ง 2 ส่วน ขณะนี้กำลังเปิดเวทีให้พูดคุยกันเพื่อให้ทราบทิศทางทั้ง 2 สภาฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ในขั้นตอนสุดท้ายอยู่แล้ว เราต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผ่านให้ได้ ส่วนเรื่องการศึกษาการทำประชามติ มีข้อจำกัดในเรื่องความเห็นแตกต่างในการทำประชามติ ว่าต้องทำจำนวนกี่ครั้ง โดยเสนอให้กับพรรคการเมืองผ่าน.สส. ในสภาฯ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนพรรคเพื่อไทยจะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 12 ธ.ค. 

เมื่อถามถึงรูปแบบที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในปัญหาการทำประชามติจะเป็นเช่นใด หรือจะเสนอเป็นญัตติเพื่อให้สภาฯ พิจารณา นายภูมิธรรมกล่าวว่า รูปแบบอาจเป็นเช่นนั้น แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งประธานสภาฯ ก็ไม่ขัดข้องถ้าคุยกันแล้ว หากที่ประชุมหารือแล้วยังไม่ได้ข้อสรุป ประธานสภาฯ ก็จะยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย 

เมื่อถามว่า เรื่องที่จะถามศาลรัฐธรรมนูญคือการทำประชามติกี่ครั้งใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า อยู่ที่ว่าติดขัดเรื่องอะไร และมีประเด็นอะไรที่อยากถาม ส่วนพรรคเพื่อไทยจะให้ถามเรื่องอะไรนั้น ต้องรอการประชุมวันที่ 12 ธ.ค. ก่อน ซึ่งตนได้หารือกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แล้ว ท่านก็เห็นชอบว่าจะให้มีการประชุมเรื่องนี้ ในวันดังกล่าว

เมื่อถามว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ  จะดำเนินการแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ตามไทม์ไลน์เดิมหรือไม่ ก่อนเสนอผลการศึกษาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในต้นปี 2567 นายภูมิธรรมกล่าวว่า คิดว่าสิ้นปีนี้ก็น่าจะจบ สำหรับคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ จะมีข้อสรุป ว่ามีทั้งความเห็นที่ตรงกันและไม่ตรงกันเป็นอย่างไร และเรามีความเห็นอย่างไร และรอช่วงหลังปีใหม่ก็จะเสนอให้ ครม. พิจารณา

เมื่อถามว่า แนวโน้มกระบวนการทำประชามติจะเริ่มต้นในไตรมาสแรกของปี 2567 ยังยึดตามไทม์ไลน์เดิมนี้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตนคิดว่าต้องอยู่กับความเป็นจริง และเราก็ขอยืนยันว่าเราจะทำให้เร็วที่สุด เพราะการทำประชามติไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ด้วย ถ้าปัญหาตรงนั้นมีไม่มากมันก็เร็ว ถ้ามีมากก็อยู่ในดุลยพินิจขององค์กรเหล่านั้น เราต้องเอามาดูและปรับดูว่าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน