ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

โลกเปลี่ยนไป ข้อมูลใหม่ ๆ หลั่งไหลหลากหลาย การตีความมากมาย ความคิดแตกต่าง ความขัดแย้งแผ่ขยาย

ชนินทรโดนข้อหา “อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ในมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษหนักมาก จำคุกสูงสุดถึง 15 ปี พ่อแม่ของเขาจึงตกใจมาก แม่ของเขาที่รู้จักกับผมมาก่อน ตั้งแต่ครั้งที่ผมยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2550 ได้โทรศัพท์มาขอพบผมด้วยอาการฟูมฟาย ผมต้องปลอบใจอยู่นานกว่าจะคุยกันรู้เรื่อง และเมื่อได้มาพบเธอก็ยังไม่เป็นปกติ เพราะมีลูกชายคนเดียว และไม่คิดว่าลูกชายที่เป็นนักเรียนเรียนดีเรียนเก่ง จะมาเกิดเรื่องเกิดราวร้ายแรงทำนองนี้

ตอนนั้นเป็นปลายปี 2559 ผมเพิ่งมารักษาการเป็นรองอธิการบดีได้ไม่กี่เดือน แม่ของชนินทรที่ต่อไปผมขอเรียกชื่อง่าย ๆ ว่า “คุณแดง” ก็มาขอเข้าพบด้วยอาการฟูมฟายดังกล่าว เธอค่อย ๆ เล่าให้ผมฟังเมื่อตั้งสติได้ดีแล้วว่า วันที่ตำรวจมาบ้าน ชนินทรซึ่งตอนนั้นเรียนอยู่ปีสุดท้ายได้ออกไปมหาวิทยาลัยแล้ว คุณแดงซึ่งบังเอิญว่าวันนั้นลาหยุดก็รับหนังสือ “หมายเรียก” ไว้ แล้วรีบโทรบอกลูก ดูเหมือนว่าชนินทรจะไม่ตกใจอะไรเลย และบอกว่าเดี๋ยวจะเรียนครึ่งวันแล้วตอนบ่ายจะไปที่โรงพักกับคุณแม่ ขอให้คุณแม่มารับก็แล้วกัน

คุณแดงโทรศัพท์ไปบอกสามี เขาบอกให้เธอรีบติดต่อที่ทำงาน เธอจึงโทรศัพท์ไปที่ทำงานถามหัวหน้ากองกฎหมาย เขาแนะนำให้พาชนินทรไปมอบตัวให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้ต้องถูกหมายจับ ซึ่งจะมีผลในเวลาที่พิจารณาคดีความและขอความกรุณาจากศาล แต่ยังขอให้ชนินทรปฏิเสธไว้ก่อนในทุกข้อกล่าวหา พร้อมกับให้มารับหนังสือรับรองตำแหน่งและเงินเดือนราชการเพื่อเอาไปประกันตัวลูก จะได้ไม่ต้องถูกจำขังเพราะเป็นคดีอาญา เมื่อเธอไปรับหนังสือรับรอง เธอก็ขอให้ลูกน้องที่ทำงานติดรถมาช่วยเธอด้วยคนหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจและคอยช่วยเหลือหากมีอะไรติดขัด จากนั้นก็ไปรับชนินทรที่มหาวิทยาลัย และเดินทางไปยังโรงพักที่มีหมายเรียกมานั้น

ชนินทรนั่งเงียบมาตลอดทาง ในขณะที่คุณแดงก็พยายามซักถามว่าไปทำอะไรที่ไหนมา และแนะนำชนินทรตามที่หัวหน้ากองกฎหมายบอกมา ซึ่งชนินทรก็มีเสียงแค่ว่า ครับ ๆ อือ ๆ จนถึงโรงพัก ที่โรงพักตำรวจก็ให้ชนินทรพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้ว พร้อมกับสอบปากคำ ก่อนที่ในตอนท้ายจะถามว่าจะยอมรับสารภาพหรือไม่ ซึ่งชนินทรที่ก็เหมือนจะรู้ว่าจะต้องตอบและพูดอย่างไร ก็ปฏิเสธไปทุกข้อกล่าวหา จากนั้นคุณแดงก็ขอใช้สิทธิของการเป็นแม่และข้าราชการประกันตัว พาชนินทรกลับบ้าน จากนั้นก็มีการนัดหมายไปพบตำรวจอีก 2 - 3 ครั้ง โดยครั้งหลัง ๆ นี้คุณแดงได้ว่าจ้างทนายความให้คอยประกบเวลาที่ถูกสอบสวนนั้นทุกครั้ง จนขณะนี้เรื่องได้ถึงอัยการและอัยการได้สั่งฟ้องแล้ว โดยในคดีนี้มีจำเลย 29 คน ซึ่งมี “นักการเมืองดาวรุ่ง” คนหนึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ส่วนชนินทรกับคนอื่น ๆ เป็นจำเลยร่วมเรียงกันไปตามลำดับ ทั้งนี้ศาลได้นัดไต่สวนไว้ล่วงหน้าประมาณ 6 ครั้ง โดยจะมีการสืบพยานของแต่ละฝ่ายในแต่ละครั้งนั้นด้วย

คุณแดงทราบว่าผมเคยให้สัมภาษณ์ในรายการวิเคราะห์การเมืองทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า ผมเคยไปเป็นพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 นี้มาหลายคดี ก็เลยนึกถึงและอยากมาปรึกษา ผมก็บอกว่าคดีของชนินทรนี้ผมไม่ได้เป็นพยานฝ่ายอัยการซึ่งก็คือโจทก์ผู้ฟ้อง หรือถ้าเป็นผมก็ให้คำปรึกษาไม่ได้ เพราะน่าจะผิดจรรยาบรรณ หรือที่เรียกภาษากฎหมายว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” แต่นี่ถือว่าโชคดีที่ผมสามารถให้คำแนะนำได้ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ในคดีนี้ รวมถึงความเห็นในด้านวิชาการ ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ ที่อาจจะมีประโยชน์แก่จำเลยอยู่บ้าง จากนั้นผมก็นัดคุยกับคุณแดงอีก 3 - 4 ครั้ง เพื่อขอทราบรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะการติดต่อกับผู้คนในกลุ่ม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและหาคำอธิบายถึงที่ไปที่มาของคดีนี้ รวมถึง “ชีวิตส่วนตัว” ของชนินทร ที่ผมคิดเอาเองว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องราวแบบนี้

คุณแดงเล่าถึงชีวิตตอนเด็ก ๆ ของชนินทรว่า เป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย ไม่โยเยและเจ็บไข้ไม่บ่อยนัก เพียงแต่ออกจะทานยากและไม่ค่อยพูดหรือเรียกร้องจะเอาอะไร โดยมีคุณย่าซึ่งสามีให้มาช่วยเลี้ยงอยู่ระยะหนึ่ง และเมื่อเข้าโรงเรียน ทางคุณแดงกับสามีก็ไปส่งที่โรงเรียนทุกเช้า แต่ตอนเย็นก็จะให้คุณย่านั่งแท็กซี่ไปรับ จนจบชั้นมัธยมต้น พอมัธยมปลายชนินทรก็ไปโรงเรียนเองได้ รวมถึงไปเรียน ร.ด. และทำกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครไปส่งไปรับเช่นตอนเด็ก ๆ แต่ก็ยังคงมีนิสัยเงียบ ๆ มีเพื่อนน้อย และไม่ค่อยพูดถึงเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน หรือเล่าถึงกิจกรรมต่าง ๆ ในรายละเอียด เพียงแต่ชอบอวดผลการเรียนในหลาย ๆ วิชาที่ได้คะแนนสูง ๆ อันแสดงถึงความสามารถในการเรียน ซึ่งพอถึงตอนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องไปสอบคัดเลือก เพราะได้ใช้ผลการเรียนเข้าสอบสอบตรงตามโควตาที่มหาวิทยาลัยเปิดรับนั้นได้เลย และบุคลิกนิสัยของชนินทรก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นคนที่เงียบขรึมและเอาแต่เรียน อย่างที่เรียกันว่า “เด็กเนิร์ด” นั้น

คุณแดงเองก็สังเกตลูกตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเห็นว่าลูกเรียนดี ตั้งใจเรียน ก็ไม่ได้เอะใจอะไร เพียงแต่ในช่วงที่เรียนชั้นประถมปลาย เคยแอบอ่านกลอนที่ชนินทรเขียนค้างไว้บนจอคอมพิวเตอร์ก็แปลกใจเล็กน้อย เพราะมีข้อความที่เชียร์นายกรัฐมนตนรีในสมัยนั้น คือนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นคนเก่ง คนดี และมีคุณงามความดีน่าสรรเสริญ ในขณะที่เธอกับสามีนั้นคิดเห็นตรงกันข้าม บางครั้งเธอก็แอบลองถามถึงเรื่องกรณีการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง ชนินทรก็ดูจะเอนเอียงไปข้างคนเสื้อแดง รวมถึงที่ต่อมาเมื่อชนินทรขึ้นชั้นไปเรียนมัธยมต้น เมื่อโรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่รัฐสภา เขาก็แค่มาเล่านิดหน่อยว่าได้ไปเจอนักวิชาการบางคนที่ให้ “ข้อมูลมั่ว ๆ” (ซึ่งก็คือผมเองที่เป็นผู้บรรยายให้นักเรียนเหล่านั้นฟัง) ซึ่งเธอก็ยังจำได้เพราะเธอก็เคยไปประสานงานราชการกับคณะกรรมาธิการที่มีผมเป็นกรรมการนั้นอยู่ด้วยคนหนึ่ง

ตอนนั้นเธอก็ไม่ได้ถามลูกว่า “ข้อมูลมั่ว ๆ” หมายถึงอะไร แต่พอมาเจอผมตอนที่ลูกเกิดคดีนี้แล้ว ก็อยากจะถามว่ามันคืออะไร ผมจำได้หรือไม่ ซึ่งผมเองก็จำไม่ได้ เพราะเรื่องเกิดมานานแล้ว ( พ.ศ. 2550 ชนินทรอยู่ชั้น ม.2 ตอนที่คุณแดงมาถามเรื่องนี้ก็ พ.ศ. 2559) แต่พอจำได้ว่าผมได้นำชมในห้องพระปกเกล้า ที่น่าจะมีเรื่องพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น การเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นแล้ว และอาจจะมีข้อมูลบางอย่างไม่ตรงกับที่ชนินทรได้เรียนหรือรู้มา เพราะผมเองก็ทราบว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นคนรุ่นใหม่หลายคนก็ชอบที่จะให้ข้อมูลบางอย่างแก่นักเรียน จนถึงนิสิตนักศึกษา แล้วบอกว่าเป็น “ข้อมูลใหม่” รวมถึงที่มีการตีความประวัติศาสตร์แตกต่างกันไปมากมาย โดยมีวัตถุประสงค์หรือ “เจตนาแปลก ๆ” แอบแฝง

คนรุ่นสมัยชนินทรคือคนที่ตกเป็นเหยื่อของโลกสื่อสารสมัยใหม่ ที่ยิ่งมีเทคโนโลยีล้ำสมัย ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและ “คนรุ่นเก่า ๆ” ควรให้ความเอาใจใส่