คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนักข่าวรับเงิน ประชุมนัดแรก กำหนดกรอบการทำงาน ขีดเส้นเสร็จใน 90 วัน ประธานระบุยิ่งช้ายิ่งทำให้เกิดความเสียหาย นัดประชุมอีกครั้ง 21 ธ.ค. เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 ที่สภาทนายความฯ ดร.วิเชียร ชุบไธสง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวางกรอบการทำงานของคณะกรรมการฯ ตามประกาศแต่งตั้ง 3 สภาวิชาชีพ ให้อำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวตามแถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อ 3 สภาวิชาชีพ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ และจัดทำข้อเสนอการดำเนินการตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอยังองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต่อสาธารณะเพื่อเป็นแนวทางการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสม ตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่า จะดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเวลา 90 วัน เพราะยิ่งช้าจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหาย เราต้องรีบทำความจริงให้ปรากฏ
ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯ จะรวบรวม ข่าว ภาพ วิดีโอ การให้สัมภาษณ์ของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุว่าให้เงินกับนักข่าว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ จากนั้นจะเชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสื่อมวลชนที่ทำข่าวในวันดังกล่าว องค์กรต้นสังกัดของสื่อที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่ถูกระบุชื่อมาให้ข้อมูล โดยทราบว่าบางองค์กรต้นสังกัดของสื่อที่ถูกระบุชื่อ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ซึ่งก็จะทำหนังสือขอผลการตรวจสอบดังกล่าวมาประกอบด้วย สำหรับผู้ที่ถูกระบุชื่อในข่าวนั้น คณะกรรมการฯ อยากเชิญมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ โดยตรง เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาและสรุปผล พร้อมข้อเสนอต่อ 3 สภาวิชาชีพต่อไป โดยจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 คาดว่าน่าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องหลายคนมาให้ข้อมูลได้ในวันดังกล่าว
ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงข้อเสนอแนะที่ต้องเสนอต่อสาธารณะนั้น เนื่องจากสื่อมวลชนแตกต่างจากวิชาชีพอื่น ซึ่งจะมีกฎหมายรองรับ เพราะสื่อมวลชนเกี่ยวข้องกับเรื่องของเสรีภาพ จึงเห็นด้วยว่า ถ้าองค์กรต้นสังกัดเข้มงวดในเรื่องนี้ก็จะช่วยได้ โดยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่ทำผิดแนวปฏิบัติ จะถูกลงโทษอย่างไร ถ้าเขียนไว้ในสัญญาจ้างงานด้วยจะช่วยได้มากทีเดียว
ที่มา:สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ