ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : ไม่แปลกที่สายมู ความเชื่อ ศรัทธา เทศกาล ทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของประเทศไทย
นำข้อมูลการดำเนินการศึกษาทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นในแต่ละภูมิภาคของไทย จากการรายงานของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งวิเคราะห์แนวทางต่อยอดสู่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพระดับโลก เพื่อนำข้อมูลจัดทำแผนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยได้จัดกิจกรรมเวิร์คช้อป 7 ครั้งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประชุมประกอบด้วยศิลปิน ผู้ประกอบการวัฒนธรรม นักนโยบายภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ กว่า 600 คน
ผลการศึกษาทุนวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุด 3 อันดับแรกในแต่ละภูมิภาค พบว่าภาคเหนือ ได้แก่ เทศกาลโคมล้านนา เทียนปูชา ขันโตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หมอลำ เทศกาลสงกรานต์ ส้มตำ ภาคตะวันตก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่ การล่องแพ การท่องเที่ยววิถีชุมชน ภาคกลาง ได้แก่ โบราณสถาน กุ้ง ปลาแม่น้ำ การท่องเที่ยวสายมู ภาคตะวันออก ได้แก่ อาหารทะเล ขนมจีน หนังใหญ่ ภาคใต้ ได้แก่ สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ หนังตะลุง โนรา โดยได้รวบรวมทุนวัฒนธรรมทั่วประเทศที่มีศักยภาพในการต่อยอดกว่า 50 รายการ ผลการศึกษาพบว่าทุนวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 7 ด้าน ประกอบด้วยทุนวัฒนธรรม 5F และทุนวัฒนธรรมที่ต้องผลักดันเพิ่มเติม 2 ด้าน หรือ 5F+2 ได้แก่ อาหาร(Food) แฟชั่น งานฝีมือและศิลปหัตถกรรม(Fashion) ภาพยนตร์(Film) เทศกาลและการท่องเที่ยว(Festival) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทยและกีฬา(Fighting) ศิลปะการแสดง ความเชื่อ ตำนานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พร้อมเสนอแนวทางเพิ่มมูลค่าทุนวัฒนธรรม ได้แก่ อาหาร โดยขายประสบการณ์เพิ่มเติมจากอาหาร สอดแทรกเรื่องราวและที่มา จัดกิจกรรมเช่นเวิร์คช้อปทำอาหาร หรือเทศกาลอาหาร แปรรูปและเพิ่มตลาดส่งออก, แฟชั่น/หัตถกรรม สอดแทรกเรื่องราวที่มาและเบื้องหลังของผลงาน ดัดแปลงศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมให้กลายเป็นของที่ระลึกที่เหมาะกับทุกคนและซื้อง่าย เช่น ไปรษณียบัตร พวงกุญแจ ของตกแต่งบ้านขนาดเล็ก ผสานเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งใช้นวัตกรรมช่วยลดเวลาในการผลิต ภาพยนตร์ โดยสนับสนุนผู้ผลิตเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ จับคู่ธุรกิจ สร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าสากล จัดกิจกรรมกับแฟนคลับต่างประเทศ ให้ทุนการศึกษาบุคลากรอุตสาหกรรมภาพยนตร์, ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดทำแผนที่เส้นทางประเพณี พัฒนาสถานที่ที่สะท้อนลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค สอดแทรกสถานที่ท่องเที่ยวและเทศกาลผ่านสื่อต่างๆ อินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, มวยไทยและกีฬาพื้นบ้าน นำเทคโนโลยีมาช่วยฝึกมวยไทย ประยุกต์การรำมวยไทยมาใช้ออกกำลังกาย เพิ่มจำนวนการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน, ศิลปะการแสดง จัดแสดงในงานสำคัญของจังหวัด จัดแข่งขันระดับจังหวัดและประเทศ ผลิตของที่ระลึกจากเอกลักษณ์ของศิลปะการแสดง ความเชื่อ สอดแทรกเรื่องราวและที่มา เชื่อมโยงเรื่องราวในพื้นที่ เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยตำนานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นำเสนอร่วมกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแพร่
ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า วธ.จะนำผลการศึกษาดังกล่าวมาจัดทำแผนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล Thailand Creative Content Agency (THACCA) ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 สาขา และสร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก สร้างรายได้แก่ประชาชน ชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ