วันที่ 8 ธ.ค.66 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า...

นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน พลังของฝ่ายก้าวหน้า ก้าวรุดหน้ามากขึ้นทั้งในทางปริมาณและในทางคุณภาพ

จนอาจกล่าวได้ว่า ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษนี้ พลังฝ่ายก้าวหน้า ทำ “สงครามทางความคิด” (War of Position) รุกคืบ เอาชนะ ฝ่ายอนุรักษ์/ฝ่ายชนชั้นปกครองมากขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ “สิ่งเก่าใกล้ตาย แต่ยังไม่ตาย สิ่งใหม่จะเกิด แต่ยังเกิดไม่ได้” แบบที่กรัมชี่ว่าไว้เช่นนี้ ทำให้ยังไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะโดยเด็ดขาด

พลังใหม่ฝ่ายก้าวหน้ายังไม่สามารถขึ้นครองอำนาจรัฐได้ ในขณะเดียวกัน พลังฝ่ายชนชั้นปกครอง ยังครองอำนาจอยู่ แต่สูญเสีย “อำนาจนำ” ไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถได้ความยินยอมพร้อมใจได้ดังเดิม ต้องใช้อำนาจบังคับกดปราบเป็นหลักแทน

ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 และเหตุการณ์การแสดงออกทางการเมืองในช่วงปี 63-64 คือ ผลรูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงการรุกคืบของพลังฝ่ายก้าวหน้า

นี่จึงเป็นที่มาของการสนธิกำลังกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง “ชนชั้นนำดั้งเดิม + ชนชั้นนำทางการเมือง + ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ” เพื่อรักษาอำนาจและสถานะให้คงอยู่ดังเดิมต่อไป

แต่พวกเขาก็ทราบดีว่า การครองอำนาจเพื่อรักษาอำนาจสถานะให้คงอยู่ต่อไป โดยไม่ได้ทำอะไรเลย นั่นคือ การรอวันล่มสลาย ดังนั้น พวกเขาต้องปฏิบัติการรุกคืบเอาคืนฐานที่มั่นทางความคิด

War of Position โต้กลับ กำลังดำเนินไป

เมื่อพลังฝ่ายก้าวหน้า ต้องการการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

พวกเขา พลังฝ่ายอนุรักษ์และชนชั้นปกครอง ก็ต้องทำความคิดสะกดคนให้เชื่อว่า มันเป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ หากอยากเปลี่ยนแปลง ก็ต้องใช้การประนีประนอม ยอมถอยแบบทุกกระบวนท่า ถอยแบบไม่มีเงื่อนไข เพื่อแลกกลับการเข้าไปมีอำนาจ

เรื่องทางเศรษฐกิจก็สำคัญ ต้องทำให้คนมั่นใจว่า ชีวิตเรา เอาเท่านี้ไปก่อน อย่างน้อยก็ดีกว่าเดิม

พวกเขาต้องอธิบายว่า ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปี กำลังหมดไป

คนรุ่นใหม่ เมื่อเติบโตขึ้น ก็ต้องการชีวิตที่ดี หันหน้ามาทำชีวิตให้มีความสุขในแต่ละวันดีกว่า

ฯลฯ

นี่คือ การทำสงครามทางความคิด โดยฝ่ายชนชั้นปกครอง เพื่อโต้กลับฝ่ายก้าวหน้า

ดังนั้น พลังฝ่ายก้าวหน้า ต้องเข้าสมรภูมิการทำสงครามทางความคิดนี้

มวลชน สมาชิก ผู้ปวารณาตัวสังกัดฝ่ายก้าวหน้า คือ ปัญญาชน ในความหมายแบบที่กรัมชี่บอก

ทุกคนสามารรับบทบาทในการทำงานทางความคิดได้

แต่การต่อสู้ทางความคิดกับพวกเขา ด้วยการตอบโต้รายวัน รายชั่วโมง ในโลกโซเชียล จับผิดเรื่องเล็กน้อย โต้เถียงกันไปมาในโลก X แบบที่ทำกันอยู่ดาษดื่น ณ เวลานี้ อาจช่วยทำให้สบายใจ สะใจ หรือปรามการโจมตีของอีกฝ่ายได้อยู่บ้าง แต่นี่ไม่ใช่ยุทธวิธีที่จะเอาชนะทางความคิดได้

การรบทางความคิดรอบใหม่ (หลังจากพวกเขาสนธิกำลังกันสามฝ่าย) ต้องนำเสนอสังคมแบบใหม่ในฝัน ทำให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต้องนำเสนอความเป็นไปได้ ต้องสู้กับความเชื่อที่ว่าเป็นไปไม่ได้ มิใช่ เฝ้ามองว่านายกรัฐมนตรีหลุดอะไร มีประเด็นอะไรให้เอาไปแซะต่อได้บ้าง

พรรคการเมืองและนักการเมือง ต้องรับบทบาทชี้นำ

มวลชนเอาการเอางานของพรรคทั้งออนกราวนด์และออนไลน์ ต้องช่วยกันชี้นำ

ยิ่งปล่อยให้สังคมสิ้นหวังเท่าไร

ยิ่งปล่อยให้คนจำนวนมากรำคาญกับการซัดกันไปมาในเรื่องไม่เป็นเรื่องระหว่างสองฝ่ายเท่าไร

ก็ยิ่งทำให้พวกเขาชนะในสงครามความคิดรอบใหม่นี้