เมื่อกล่าวถึง “สิ่งแวดล้อม” ไม่ว่าจะของไทย หรือของเทศ คือ สิ่งแวดล้อมของโลก ก็เผชิญวิกฤติปัญหาคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติปัญหาเรื่องดิน น้ำ และอากาศ เป็นอาทิ ซึ่งในปี 2023 (พ.ศ. 2566) นี้ บรรดานักสิ่งแวดล้อมได้จำแนกแยกแยะวิกฤติปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกไว้จำนวนหลายสิบเรื่องที่โลกเราได้ประสบกันในปีนี้ และก็คงจะลากยาวไปถึงปีต่อๆไป ได้แก่
“วิกฤติภาวะโลกร้อนจากพลังงานเชื้อเพลิงซากฟอสซิล” เป็นวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการที่มนุษย์เราใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล เช่น น้ำมันปิโตรเลียมชนิดต่างๆ ทั้งเบนซิน และดีเซล รวมถึงการใช้ถ่านหิน เป็นต้น
เหล่านักวิทยาศาสตร์สาขาสิ่งแวดล้อม ประเมินว่า จากการที่มนุษย์เราใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1.15 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงโลกของเราอยู่ในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือประมาณระหว่าง ค.ศ. 1750 – 1760 (พ.ศ. 2293 – 2303) เป็นต้นมา
อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ก็มาจากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จากการที่มนุษย์ใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่เป็นซากฟอสซิลเหล่านี้ จนเป็นเหตุเกิดภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น พร้อมกับส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติสารพัด เช่น ร้อนจัด แล้งจัด พายุพัดถล่มอย่างรุนแรงขึ้น เป็นอาทิ เรียกว่า ผลพวงจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน อันเป็นหนึ่งในวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเราโดยแท้
ทั้งนี้ ภาวะโลกร้อน ที่ผืนพิภพเราต้องเผชิญ ก็ยังส่งผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมา อย่างปริมาณน้ำทะลที่เพิ่มสูงขึ้น จากผลพวงของภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดพื้นที่น้ำแข็งบริเวณขั้วโลก คือ ทั้งขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ ละลาย จนกลายเป็นน้ำ ทำให้น้ำทะเลเพิ่มปริมาณขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมืองที่อยู่ริมทะเล และมีระดับต่ำหลายเมือง ก็น่าหวั่นใจว่า จะกลายสภาพเป็นเมืองจมน้ำไปในที่สุด
นอกจากนี้ พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ก็ยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นทำให้อากาศไม่บริสุทธิ์เป็นพิษ และการเกิดฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกสั้นๆ กันจนติดปากว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5นั่นเอง
ทั้งนี้ มลภาวะทางอากาศ จากอากาศไม่บริสุทธิ์ และมีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 นั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ตลอดจนสัตว์สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามมา โดยทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบบหลอดเลือด ระบบหัวใจ รวมไปถึงระบบสมองสารพัด ซึ่งมีรายงานจาก “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” (ฮู) ระบุว่า มลภาวะทางอากาศนี้ คร่าชีวิตพลเมืองโลกเฉลี่ยปีละ 7 ล้านคน จนถือเป็นมัจจุราชเงียบ หรืเพชฌฆาต ของมนุษยชาติเราประการหนึ่ง
“วิกฤติขยะพลาสติก” ถือเป็นอีกหนึ่งวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เราเผชิญ
โดยปัญหาขยะพลาสติกนี้ เริ่มส่อเค้าคุกคามต่อมนุษย์เรามาหลายทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 หรือหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเลยก็ว่าได้ ซึ่งในช่วงคริสต์ทศวรรษดังกล่าว โลกเราก็มีกำลังการผลิตวัสดุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก ราว 2 ล้านตันต่อปี ก่อนที่ในปี 2015 (พ.ศ. 2558) โลกเราก็สามารถผลิตวัสดุภัณฑ์พลาสติกได้เป็นปริมาณแบบก้าวกระโดด คือ 419 ล้านตันต่อปี
ด้วยปริมาณมหาศาล เมื่อเลิกใช้วัสดุภัณฑ์พลาสติกแล้ว ก็ทิ้งเป็นขยะอย่างมากมายเหลือคณานับ จนกลายเป็นวิกฤติขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมของมนุษย์เราในที่สุด
ทั้งนี้ วิกฤตขยะพลาสติก ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกเราเป็นประการต่างๆ เช่น ก่อให้เกิดมลภาวะแก่ดิน เพราะเมื่อทิ้งลงดินก็ยากที่กำจัด ย่อยสลายยาก ซึ่งขยะพลาสติกที่ปกคลุมผิวดินจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ก็ยังก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ด้วย เมือขยะพลาสติกลงไปในน้ำก็ยังก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ โดยทำให้น้ำเสีย น้ำเน่า หรือแม้กระทั่งเป็นอุปสรรคการระบายน้ำ การไหลของน้ำ ก่อให้เกิดอุทกภัย หรือน้ำท่วม ตามมาด้วย ดังสังเกตได้จากตามชุมชนเมืองที่ประสบกับน้ำท่วมหลังเกิดฝนตกหนัก หรือมีน้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ ไหลบ่ามาท่วม แล้วระบายน้ำได้ช้ากว่าปกติ
นั่น! เป็นเพียงตัวอย่างวิกฤติจากจำนวนหลายสิบวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกเราได้ประสบกันในปี 2023 นี้ รวมถึงปีต่อๆ ไปหากไม่ได้รับการแก้ไขจากทุกภาคส่วนกันอย่างจริงจัง