วันที่ 4 ธ.ค. 2566 ที่โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ หนองบัวลำภู นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งแรก ว่า เหตุผลที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เลือก จ.หนองบัวลำภู ในการประชุม ครม.สัญจรครั้งแรก เพราะ จ.หนองบัวลำภู เป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรเป็นอันดับ 76 ของประเทศ เฉลี่ยจีดีพีรายได้ต่อหัว 6.3 หมื่นกว่าบาท ส่วนในแง่ของการท่องเที่ยว อยู่อันดับ 77 ของประเทศ รายได้ต่อปีเพียง 274 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีภัยแล้งหนักหนาสาหัสมาก โดยพื้นที่ทั้งจังหวัด 2.5 กว่าล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 1.9 ล้านไร่ และอยู่ในเขตชลประทานเพียง 1.1 แสนกว่าไร่ รวมถึงปัญหายาเสพติดเยอะมาก ซึ่งนายกฯและครม.นึกถึงเสมอว่า เราต้องลดช่องว่าง ลดการเหลื่อมล้ำให้ได้
นายชัย กล่าวว่า สิ่งที่ที่ประชุม ครม. จะทำให้ จ.หนองบัวลำภูคือ การเพิ่มจีดีพี โดยเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ผ่านการท่องเที่ยวและเกษตรเป็นหลัก รวมถึงด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะยาเสพติด ทั้งนี้ จ.หนองบัวลำภูมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่ง เช่น ภูแอ่นในอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เดิมมีสกายวอล์คอยู่แล้ว รัฐบาลจะเพิ่มซิปไลน์ (เครื่องเล่นสลิง) ระยะ 1 กิโลเมตร ให้ความรู้สึกสัมผัสความชีวิตความเป็นทาร์ซาน โดยใช้งบประมาณไม่เกินร้อยล้านบาท โดยผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด และเนื่องจากหนองบัวลำภูมีความโดดเด่นเรื่องผ้าทอ โดยเฉพาะผ้าขิตสลักหมี่ที่มีลายบัวลุ่มภู ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด จะมีการสร้างศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือการทอผ้าขิตสลักหมี่เพิ่มเติมอีก 4 ศูนย์ รวมเป็น 7 ศูนย์ เพื่อยกระดับฝีมือในการทอผ้า สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน
นายชัย กล่าวว่า ด้านคมนาคม รัฐบาลจะเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมใน 5 จังหวัดอีสานตอนบน ให้เป็นคลัสเตอร์เดียวกัน ทำให้การเดินทางมาท่องเที่ยวสะดวก จะไม่ถูกลืม คนจะจัดโปรแกรมมาเที่ยว อีกทั้งจะมีการปรับปรุงเส้นทาง อ.นากลาง เชื่อม จ.เลย ส่วนด้านการแก้ปัญหาภัยแล้ง จะมีการสร้างฝายกักเก็บน้ำที่บ้านนาไร่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา เพื่อกักเก็บน้ำลุ่มน้ำโมง โดยจะทำทันที รวมถึงในลุ่มน้ำต่างๆ ที่เป็นลำน้ำขนาดเล็กทั่วจังหวัดทั้ง 6 อำเภอ โดยจะสร้างฝาย 92 แห่ง รวมถึงขุดลอกลำพะเนียง ใส่เครื่องมือกักเก็บน้ำ คลองไส้ไก่ ถือเป็นการปรับระบบชลประทานครั้งใหญ่ของหนองบัวลำภู ใช้งบประมาณราว 1 พันล้านบาท ขณะที่ในด้านความปลอดภัย จ.หนองบัวลำภู ปัจจุบันมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 3,800 คน ช่วยสแกนดูแลหาคนที่ติดยาเสพติดไปบำบัดรักษา ตัวเลขถือว่าเยอะแล้ว แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ รัฐบาลจึงจะให้งบประมาณสำหรับฝึกอบรมอีก 6 พันกว่าคน เพื่อให้มี ชรบ.ที่ผ่านการฝึกอบรมทุกหมู่บ้าน
นายชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ชาวหนองบัวลำภูยังได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก 4-01 ในจังหวัด 9.5 แสนไร่ ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร โดยในวันที่ 15 ธ.ค. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา อนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารจาก ส.ป.ก. เป็นที่ดินเพื่อการเกษตร สามารถซื้อขายได้ วัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเกษตร เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวเสริมถึงการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด ว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายของสำนักงานปฏิรูปการเกษตร ไม่เกี่ยวกับการออกโฉนดของกรมที่ดินและประมวลกฎหมายที่ดิน