รอง ผวจ.กาญจน์ นำ ปชช.จิตอาสา ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาโครงการ SCGP “ปลูก ลด ร้อน” ร่วมกันปลูกต้นไม้ 999 ต้นและสร้างฝายชะลอน้ำ 9 ฝาย เพื่อฟื้นฟูผืนป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวป่าชุมชนกาญจนบุรี เนื่องในวันพ่อแห่งชาติและวันดินโลก

 

  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น.ของวันที่ 4 ธ.ค.2566 ณ บ้านหนองหินเขาสูง ตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี 

 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาโครงการ จิตอาสา “SCGP ปลูก ลด ร้อน” ปลูกต้นไม้ 999 ต้น และสร้างฝ่ายชะลอน้ำ 9 ฝ่าย เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันพ่อแห่งชาติ และวันดินโลก 

     พร้อมด้วย นางสาวเพ็ญศรี กลั่นบุศย์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี นายอนุชา หอยสังข์ นายอำเภอท่ามะกา โปรกอล์ฟหญิงระดับโลก โม เม เมียว หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ทหาร ตำรวจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสาพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

   

 โอกาสนี้ ประธานในพิธีฯ ถวายความเคารพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถวายความเคารพและเปิดกรวยกระทงดอกไม้เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  

     จากนั้น ประธานในพิธีฯ นำผู้เข้าร่วมพิธีร่วมเปล่งเสียงกล่าวคำปฏิญาณ “เราทำความดีด้วยหัวใจ” โดยพร้อมเพรียงกัน จำนวน 3 ครั้ง  เมื่อเสร็จสิ้นพิธีได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ 999 ต้นและสร้างฝายชะลอน้ำ 9 ฝาย เพื่อฟื้นฟูผืนป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวป่าชุมชนกาญจนบุรี เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ และวันดินโลก

    สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในวันที่ 5 ธันวาคม และวันดินโลก และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งเป็นแนวทางที่ SCGP มุ่งดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและ ESG เพื่อสร้างสมดุลในทุกมิติ ป่าชุมชนบ้านหนองหิน-เขาสูง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี มีขนาด 895 ไร่ เป็นป่าที่ SCGP ได้ร่วมกับราชการและชุมชนในพื้นที่ร่วมอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว 

  เนื่องจากเป็นแหล่งของต้นน้ำใช้กับชุมชนโดยรอบ การฟื้นฟูผืนป่าและเพิ่มต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนต้นน้ำ จะทำให้หมู่บ้านในพื้นที่มีแหล่งน้ำใช้ มีน้ำและดินที่อุดมสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก สามารถสร้างรายได้จากการทำเกษตรกรรม มีอาหารที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอันเกิดการมีสวนร่วมของคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่อีกด้วย