ด้วยพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นว่าปัญหาการจราจรของคนเมือง มิใช่ปัญหาของคนกรุงเทพฯฯเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งทรงมีพระวินิจฉัยและทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการจราจรเพื่อเป็นการแก้ไขและบรรเทาปัญหาจราจรไว้อย่างมากมาย ยังประโยชน์ให้ประชาชนได้ใช้จนถึงปัจจุบัน ในโอกาสเนื่องในวันที่ 5 ธันวาคม 2566 จึงขอนำเสนอตัวอย่างโครงการแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนรัชดาภิเษกบริเวณหน้าศาลอาญา เนื่องจากสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นที่ตั้งของส่วนราชการหลายแห่ง เช่น ศาลอาญา ศาลแพ่ง อาคารแสดงสินค้า กรมส่งเสริมการส่งออก และหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ ตลอดจนที่พักอาศัย ซึ่งมีประชาชนข้ามถนนจำนวนมาก สภาพถนนมีลักษณะเป็นช่วงโค้งจากแนวสะพานลอยข้ามทางแยกรัชโยธิน ทำให้รถที่แล่นมาด้วยความเร็วอยู่ในมุมอับมองไม่เป็นประชาชนที่เดินข้ามถนน เกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ เนื่องจากถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนรอบใน จึงเป็นถนนสายหลักที่มีประชาชนใช้เส้นสัญจรจำนวนมาก สภาพการจราจรมีความคล่องตัวพอสมควร รถยนต์ส่วนใหญ่จึงใช้ความเร็วค่อนข้างสูง
เมื่อทรงทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 3 ล้านบาท แก่กรุงเทพมหานคร โดยมีพลเอก เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ เป็นผู้แทนพระองค์มามอบให้แก่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536 เพื่อทำการก่อสร้างสะพานให้ประชาชนทั่วไปและข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ศาลอาญา กรมส่งเสริมการส่งออก และหน่วยงานอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงใช้ข้ามถนนอย่างปลอดภัย โดยการก่อสร้างสะพานลอยคอนกรีตไม่มีเสากลาง ความยาว 34 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ใช้งบประมาณกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมอีก จำนวน 4.187 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2537 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537
2.โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 กับถนนเทียมร่วมมิตร เพื่อให้การเดินทางของประชาชนได้รับความสะดวกและลดระยะการเดินทางระหว่างถนนเทียมร่วมมิตรกับถนนพระราม 9 ลง โดยไม่ต้องผ่านแยก อ.ส.ม.ท ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 กับถนนเทียมร่วมมิตร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณถนนรัชดาภิเษก และถนนพระราม 9 โดยการสร้างทางลัดในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ด้านข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและกรมการผังเมือง ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยกรุงเทพมหานคร ดำเนินการก่อสร้างทางเชื่อมดังกล่าว ความยาวประมาณ 1,425 เมตร มีเขตทางกว้าง 19 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 14 เมตร พร้อมไหล่ทางข้างละ 2.50 เมตร รวมถึงการวางท่อระบายน้ำและรางระบายน้ำเพื่อจัดการระบายน้ำ รวมถึงปรับปรุงส่วนต่อเชื่อมกับถนนทั้งสองด้าน และมีงานวางท่อประปาขนาด 2,000 มิลลิเมตร ของการประปานครหลวงรวมอยู่ด้วย กรุงเทพมหานครเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2537 แล้วเสร็จ เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 งบประมาณในการก่อสร้างรวม 33.7 ล้านบาท
3.โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ ทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อให้การจราจรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กับบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยการก่อสร้างต้องคำนึงถึงความสวยงามและกลมกลืนเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของสะพานมัฆวานรังสรรค์ และการก่อสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานเดิมจำนวน 2 สะพาน ต้องไม่ย้ายน้ำพุ และให้มีระดับความสูงน้อยกว่าสะพานมัฆวานรังสรรค์ ดังนั้น สะพานคู่ขนานทั้ง 2 สะพาน โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2537 แล้วเสร็จเปิดการจราจรในวันที่ 2 ธันวาคม 2537 จุดประสงค์เพื่อให้การจราจรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กับบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
4.โครงการถนนรัชดาภิเษกทางแยกต่างระดับบนถนนรัชดาภิเษก-วิภาวดีรังสิต หรือรู้จักกันในชื่อโครงการถนนวงแหวนรัชดาภิเษก ทรงมีแนวพระราชดำริตั้งแต่ ปี พ.ศ.2514 ให้สร้างโครงข่ายวงแหวนเตรียมไว้ โดยถนนรัชดาภิเษกมีความยาวทั้งสิ้น 45 กิโลเมตร ประกอบด้วยถนนสายเดิมที่มีอยู่หลายสาย และถนนที่สร้างขึ้นมาใหม่อีกจำนวนหนึ่ง
5.โครงการถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี เขตบางกอกน้อย เพื่อช่วยลดปริมาณการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณสามแยกไฟฉาย และเป็นเส้นทางลัดเชื่อมต่อไปยังย่านสำคัญ ได้แก่ สถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช และตลาดพรานนก จึงมีพระราชดำริขยายแนวถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี จากช่วงปลายถนนอิสรภาพถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ ระยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งสภาพเดิมเป็นถนนคอนกรีตจากปลายถนนอิสรภาพเข้าไปประมาณ 230 เมตร ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 380 เมตรเป็นที่ลุ่ม มีบ้านเรือน เพิงพักอาศัย และมีทางเดินตามแนวทางรถไฟจนถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยกรุงเทพมหานครได้รับสนองแนวพระราชดำริและได้ขออนุญาตใช้ที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536 ใช้งบประมาณดำเนินการ 16.5 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ช่องจราจร ระยะทาง 610 เมตร มีเขตทางกว้าง 10 เมตร เริ่มเปิดการจราจรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามถนนสายนี้ตามชื่อวัดในบริเวณดังกล่าวว่า ถนนสุทธาวาส ซึ่งเป็นถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ (สายธนบุรี) ในเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี พื้นที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากปลายถนนอิสรภาพ จุดบรรจบถนนรถไฟ เลียบทางรถไฟสายใต้ด้านขวาทางผ่านวัดสุทธาวาส มาสิ้นสุดที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณป้ายหยุดรถไฟจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามกับจุดเริ่มต้นของถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ใกล้แยกบางขุนนนท์
6.โครงการก่อสร้างถนนชุมชนบึงพระราม 9 เชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 ถนนประชาอุทิศ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรบริเวณถนนพระราม 9 และต่อเชื่อมกับถนนเอกมัย-รามอินทรา ทำให้โครงข่ายจราจรคล่องตัว ทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างถนนและปรับปรุงชุมชนพระราม 9 (หน้าศูนย์แพทย์พัฒนา) เพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างถนนพระราม 9 กับถนนประชาอุทิศตามแนวซอยโรงเรียนไทย-ญี่ปุ่น กับซอยจำเนียรเสริม กรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว พร้อมติดตั้งไฟจราจร โดยก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 14 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร ทางเท้ากว้างฝั่งละ 3 เมตร พร้อมท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,000 มิลลิเมตร และสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 แห่ง งบประมาณการก่อสร้าง 64.1 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2534 และเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2537
จะเห็นว่าบางโครงการ เช่น ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก เริ่มต้นตั้ง ปี พ.ศ.2514 ซึ่งปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯขณะนั้นยังไม่วิกฤต หรือโครงการเล็ก ๆ เช่น ก่อสร้างสะพานลอย การขยายถนน ทำทางลัดต่าง ๆ ก็เพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกปลอดภัยขึ้น จนปัจจุบันก็ยังมีการใช้งานและพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง โดยที่หลายคนอาจไม่ทราบว่ามาจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทำไว้เพื่อคนไทย
** ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สำนักงาน กปร. และ www.royaloffice.th หน่วยราชการในพระองค์ สำนักพระราชวัง