Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดการเงินอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 34.72-35.20 บาทต่อดอลลาร์) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ออกมาแย่กว่าคาด อีกทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟด ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลต่อโอกาสที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และส่วนราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-time High) ซึ่งทำให้ผู้เล่นบางส่วนในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ โดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นช่วงท้ายสัปดาห์ หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำและการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตาไฮไลท์สำคัญ อย่าง รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้ และรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทย

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาประเมินว่า เฟดมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวจะส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น โดยเรามองว่า ควรระวังความเสี่ยงดังกล่าว เนื่องจาก หากพิจารณาจาก CME FedWatch Tool จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดได้หวังว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมีนาคม และอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -125bps ในปีหน้า ซึ่งถือว่า เป็นมุมมองที่ยังไม่ได้สอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดมากนัก  

▪ ฝั่งยุโรป – ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างมองว่า ทั้ง BOE และ ECB มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าไม่น้อยกว่า -75bps หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดชะลอตัวลงชัดเจน นอกจากนี้ หากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในสัปดาห์นี้ หดตัวลงต่อเนื่อง ก็อาจยิ่งย้ำมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด และอาจส่งผลกดดันให้สกุลเงินฝั่งยุโรป โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้บ้าง

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการที่ค่าเงินเริ่มมีเสถียรภาพและแข็งค่าขึ้นจะหนุนให้ทั้งธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% และ 6.50% ตามลำดับ ส่วนในภาพเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน (Exports & Imports) เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital Wallet อาจทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤศจิกายน ย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 60 จุด ทว่าโดยรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนพฤศจิกายน ทรงตัวใกล้ระดับ 0.60% ทว่า มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ รวมถึงการย่อตัวลงของราคาพลังงาน และระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่สูงในปีก่อนหน้า จะกดดันให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ยังคงอยู่ที่ระดับ -0.30% อย่างไรก็ดี เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระยะสั้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้นและอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. ทำให้ภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินแบบ Outlook Dependent ธปท. อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ไปจนถึงปี 2025

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าในช่วงท้ายสัปดาห์ก่อน ทว่าเงินบาทก็อาจติดอยู่ในโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ควรระวังความเสี่ยงเงินบาทพลิกอ่อนค่าเร็วและแรง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อนึ่ง แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงบ้าง ซึ่งอาจช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ส่วน โฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้ ซึ่งต้องจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด หลังล่าสุดราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นใกล้จุดสูงสุดใหม่ (All-time High) เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมออกมาดีกว่าคาดและชี้ว่าเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกอย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน รวมถึงความกังวลต่อทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.35-35.15 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.90 บาท/ดอลลาร์

 

#KrungthaiGLOBALMARKETS #ค่าเงินบาท #ตลาดการเงิน #พูนพานิชพิบูลย์ #กรุงไทย