วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เดิมชื่อ”วัดสลัก“สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏศิลาจารึกใต้ฐาน“พระพุทธรูปหิน”พระประธานในอุโบสถวัดสลัก โดยอักษรที่จารึกนั้นเป็นอักษรในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2228) 

วัดสลักต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ.2326) 

”วัดสลัก“เปลี่ยนชื่อเป็น“วัดนิพพานาราม” “วัดพระศรีสรรเพชญ์”และ“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” พระอารามนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 5 พระองค์ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก มีการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยแห่งแรกขึ้นจากมหาธาตุวิทยาลัย สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปัจจุบันนับตั้งแต่ พ.ศ.2228 ถึง พ.ศ.2566 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร มีอายุครบ 338 ปี 

เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ผู้ได้สร้างวัดมหาธาตุ คณะสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ทายกทายิกา และคณะศิษยานุศิษย์ได้มีความเห็นตรงกัน จึงพร้อมใจกันจัดให้มีการสมโภชพระอารามขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2566 - 2 มกราคม พ.ศ.2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา พ.ศ.2567 

ในโอกาสมหามงคล วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ครบ 338 ปี พระพรหมวชิราธิบดี อธิบดีสงฆ์ เป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก “พระสมเด็จอรหัง”พระเครื่องเก่าแก่ ที่มีมนต์ขลัง และความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระเครื่องต้นแบบพระสมเด็จ ของ หลวงพ่อโต วัดระฆังโฆสิตาราม ถูกจัดสร้างขึ้นโดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  

ซึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 ในราชวงศ์จักรี และเป็นพระบรมราชาจารย์ของรัชกาลที่ 2, 3 และ 4 ด้วย 
เป็นชาวกรุงเก่าชื่อ สุก ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 หรือ พ.ศ. 2276 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากพงศาวดารระบุชัดว่า ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดท่าหอย เมื่อสมัยกรุงธนบุรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้อาราธนาลงมาอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ระหว่างอยู่ที่วัดราชสิทธารามนั้น ปรากฏว่าได้เป็นที่นับถือของชาวบ้านไปถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ต่างก็พากันไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเป็นจำนวนมาก เพราะต่างได้เห็นความเข้มขลังด้านเมตตาพรหมวิหาร สามารถเรียกไก่เถื่อนจากป่ามารับการโปรยทานได้ทุกวัน อันเป็นที่มาของ พระสังฆราชไก่เถื่อน นั่นเอง 

การสร้างพระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ นั้น พระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) เริ่มสร้างตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2360 สมัยที่ยังเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดพลับ โดยเป็นที่เข้าใจว่าพิมพ์แรกหรือพิมพ์ปฐมฤกษ์ คือ พิมพ์เกศเปลวเพลิง ต่อมาเมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชและย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุแล้ว ท่านได้นำพระสมเด็จอรหังมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ 

เนื้อมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จอรหังนั้น ใช้มวลสารเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม คือ ใช้ปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ส่วนผสมอื่นๆ ก็คล้ายคลึงกัน เช่น เศษอาหารที่ฉัน วัสดุบูชา และผงอิทธิเจ ผิดกันตรงสัดส่วนที่นำมาผสมกันเท่านั้น 


องค์พระสมเด็จอรหัง มี 2 สี คือ เนื้อขาวและเนื้อแดง สันนิษฐานว่าอาจจะมีการผสมปูนกินหมากหรือพิมเสนเข้าไป เมื่อผสมกับปูนเปลือกหอยทำให้เนื้อมวลสารกลายเป็นสีแดง พิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐาน 3 ชั้น และมีซุ้มครอบแก้วเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ด้านพุทธคุณมีความเด่นทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเหมือนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังทุกอย่าง 

สมเด็จอรหัง ถือว่าเป็นของดีที่มีมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ สนามหลวง 

สมเด็จอรหัง เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นของสำคัญคู่กับวัดมหาธาตุฯ หากสาธุชนท่านใด สนใจสามารถติดต่อบูชาได้ที่วัดมหาธาตุฯ บริเวณโพธิ์ลังกา สำนักงานคณะกรรมการสมโภชฯ ตึกมหาธาตุวิทยาลัยชั้น 2 


หรือเช่าจองผ่านไลน์ QR ด้านล่างนี้