วันที่ 2 ธ.ค.66 บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ  ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการดำเนินการพัฒนาการศึกษาพันธุ์พืช เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ณ ห้องประชุมไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUN กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัยเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรอย่างสม่ำเสมอ สินค้าหลักคือสินค้าข้าวโพดหวาน โดยมีตลาดส่งออกลูกค้าต่างประเทศมากกว่า 40 ราย นอกจากนี้ ตลาดในประเทศ สินค้าถั่วลายเสือ เป็นสินค้าซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการสูงมาก ทั้งนี้บริษัทมีความท้าทายด้านปัญหาการ supply ทางด้านวัตถุดิบ บริษัทจึงได้เล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกับ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย และมีผลงานทางด้านวิชาการ และงานวิจัยพันธุ์พืช ที่บริษัทสามารถนำมาสานต่อและเชื่อมโยงสู่สนามจริง และสามารถช่วยเติมเต็มด้านคุณภาพผลผลิต เทคโนโลยีในการปลูกที่ดี เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ให้สอดคล้องกำลังการผลิตในโรงงานมากขึ้น 

ด้าน รองศาสตราจารย์ ธานี  ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร ม.เกษตร กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือระหว่าง SUN และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในครั้งนี้ว่า ม.เกษตร มุ่งเน้นการขับเคลื่อนโมเดล เศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Low carbon โดย คณะเกษตร ม.เกษตร มีความเชี่ยวชาญ ในการพัฒนาสายพันธุ์พืช ให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น มีความต้านทานต่อโรคและแมลง และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และมีเทคโนโลยีการผลิตที่ปลอดภัย โดยการใช้ชีวภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีคุณค่าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการร่วมมือ SUN โดยหวังว่าภายใต้ความร่วมมือนี้ จะสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจ และมองว่าสุดท้ายถ้าหากต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ ผู้ผลิตต้นน้ำ และเกษตรกรจะได้ผลประโยชน์ และเกิดความขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจของไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่าง SUN และ ม.เกษตร จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปสินค้า อาทิเช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสงลายเสือ และพืชอื่นๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางด้านการเกษตรในทุก ๆ มิติ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรเครือข่ายของบริษัท ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรผ่านการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน จากทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในวงวิชาการด้านการพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการผลิตพืชที่ช่วยยกระดับผลผลิตและคุณภาพต่อไป