วันที่ 1 ธ.ค.66 นายอุทัย หุ่นศรี อายุ 38 ปี แรงงานไทยที่ถูกกลับฮามาสจับเป็นตัวประกันตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.66 หรือนานเกือบ 2 เดือน ได้รับการส่งตัวกลับไปถึงภูมิลำเนา บ้านเจริญเมือง หมู่ 14 ต.เจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย แล้ว โดยมีนายมูล ทุ่นศรี อายุ 76 ปี พร้อมญาติๆ และนายสุนันท์ สุยะ ผู้ใหญ่บ้านเจริญเมือง พากันรับขวัญ
โดยทางนายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน พร้อมกิ่งกาชาด อ.พาน ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสุขภาพ ในเบื้องต้นพบว่ามีสุขภาพแข็งแรงเพียงแต่อิดโรยเพราะต้องเดินทางไกลถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2566 ก่อนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยทันที
ซึ่งนายมูลและบรรดาญาติต่างมีความงดีใจกันโดยถ้วนหน้าโดยเฉพาะนายมูลที่ทุกข์ใจมานานเกือบ 2 เดือน เพราะก่อนหน้านี้ไม่ปรากฎข้อมูลในระบบว่านายอุทัยไปประสบเหตุ โดยมีเพียงการติดต่อสื่อสารกับลูกชายที่ไม่สามารถทำได้ตามปกติ ขณะที่ญาติบางคนได้ผูกด้ายที่ข้อมือเพื่อรับขวัญตามประเพณีของภาคเหนือ
ส่วนหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าสอบถามเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งทราบว่าได้รับจากสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศจำนวน 10,000 บาทแล้ว และเมื่อพักผ่อนเพียงพอแล้วจะไปขอรับกองทุนผู้ประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากภัยสงคราม รายละ 15,000 บาทต่อไป
นายมูล กล่าวว่า ตนอาศัยอยู่กับบุตรชายที่บ้านหลังดังกล่วาเพราะภรรยาของตนหรือแม่ของนายอุทัยเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหลังจากเขาไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยตลอดโดยเขามีพี่น้อง 3 คนพี่สาวของเขาจะคอยติดตามข่าวสารให้อยู่เสมอ แต่หลังหหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค.พวกเราก็ติดต่อกับลูกชายไม่ได้อีกเลยทำให้รู้สึกกังวลและเป็นทุกข์อย่างมากมาตลอดเกือบ 2 เดือน ถึงขั้นคิดว่าเขาคงจะเสียชีวิตไปแล้ว กระทั่งเจ้าหน้าที่ได้ไปแจ้งว่าลูกชายถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัวทำให้ตนรู้สึกดีใจอย่างมากและต่อไปนี้คงนอนตาหลับแล้ว
ทางด้านนายอุทัย กล่าวว่า ได้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2562 จนถึงวันที่ 7 ต.ค.2566 ก็ถูกจับตัวไปเป็นตัวประกัน แต่ความเป็นอยู่ในสถานที่ ที่ถูกจับไปตนขออนุญาตไม่เปิดเผยเพราะยังคงมีคนไทยและอิสราเอลที่เป็นเพื่อนกันอีกหลายคนถูกจับอยู่จึงเกรงว่าจะได้รับอันตราย เบื้องต้นคือยังสามารถพูดคุยกับคนอื่นๆ ได้ตามปกติไม่ได้ถูกกดขี่และได้รับอาหารเป็นข้าวเหมือนเดิม