วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมประชุมคณะกรรมการอํานวยการความร่วมมือการทำงานกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ การแก้ไขปัญหาเมืองเชิงบูรณาการ ตลอดจนวางระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และบริหารงานให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อให้การประสานงานร่วมกันในการให้บริการประชาชนเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ประกอบด้วย คณะทำงานโดยผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดของแต่ละจังหวัด และตัวแทนฝ่ายบริหารจากกทม. จุดประสงค์หลักเพื่อร่วมมือกันทำงานทุกมิติ โดยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการทำงานตามประเด็นปัญหาที่พบร่วมกัน จำนวน 5 คณะ คือ 1.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสาธารณภัย ดูแลปัญหา เช่น การจัดการไฟไหม้ในพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตจังหวัด บริหารการเผชิญเหตุ การบัญชาการเหตุ การใช้ทรัพยากรและร่วมกันบูรณาการข้อมูล 2.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการผังเมืองและการใช้ประโยชน์พื้นที่ ดูแลปัญหา เช่น แต่ละเมืองมีผังของตัวเอง อาจมีรอยต่อระหว่างผังเมืองไม่ต่อเนื่องกันระหว่างเมือง ยกตัวอย่าง ฝั่ง จ.สมุทรปราการ เป็นผังสีแดง ส่วนฝั่ง กทม.เป็นผังพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย ทำให้การใช้พื้นที่มีความลักลั่น 3.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ดูแลปัญหา เช่น เรื่องฝุ่น PM2.5 การลักลอบทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลทั้งบนบกและในน้ำ 4.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการจราจรและขนส่ง ดูแลปัญหา เช่น บริหารจัดการการจราจรหนาแน่นทั้งในรูปแบบขนส่งวัสดุและผู้คน รวมถึงรถไฟฟ้าในพื้นที่คาบเกี่ยว จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ กทม. และรถบรรทุกน้ำหนักเกินระหว่างจังหวัด 5.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ ดูแลปัญหาน้ำในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งคณะดังกล่าวจะเริ่มทำงานตั้งแต่วันนี้

 

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความสำเร็จในแนวทางบริหารจัดการของแต่ละเมือง เพื่อนำไปปรับใช้ โดยคณะกรรมการในที่ประชุมมีนโยบายให้การทำงานมีผลอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับการใช้งบประมาณ เช่น กรณีคลองบ้านใหม่ไหลผ่านกทม. นนทบุรี ปทุมธานี การสร้างเขื่อนต้องวางแผนให้สอดคล้องกันทั้ง 3 จังหวัด เพื่อการกำหนดงบประมาณร่วมกัน เป็นต้น

 

จากนี้คณะกรรมการจะกลับไปกำหนดแผนการทำงาน และจะมีการประชุมร่วมกันทุก 3 เดือน โดยการประชุมครั้งหน้าจะจัดขึ้นที่ จ.นนทบุรี มุ่งหวังในการเชื่อมโยงการพัฒนาเมือง การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องต่อเนื่องแบบไร้รอยต่อ เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสด้านการค้า การลงทุน การคมนาคม การพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนที่จะได้รับประโยชน์กว่า 10 ล้านคน