เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 30 พ.ย.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เรื่องนี้ถือเป็นวาระที่สำคัญ โดยมีการนำเอาหนี้นอกระบบไปอยู่ในท้ายพระราชบัญญัติคดีพิเศษ  ส่วนที่จะเป็นคดีพิเศษ เครือข่ายหนี้นอกระบบ เช่น เราตีว่า 30 ล้าน หรือ 50 คนขึ้นไป ที่ปล่อยกู้ โดยเมื่อตรวจสอบกับกรมบังคับคดีก็จะพบกรณีขึ้นมาชัดเจน ซึ่งพบว่ามีเป็นหมื่นๆคน วันนี้จึงสั่งให้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมาเป็นผอ.การแก้ปัญหาลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นท้ายหนี้นอกระบบที่มีสำนักเข้าไปดูแล โดยดีเอสไอจะทำร่วมกับตำรวจ ซึ่งจะใช้วิธีเข้าไปสอบสวน สืบสวนเครือข่าย ซึ่งจะทำให้บรรเทาเรื่องหนี้นอกระบบ

พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ในส่วนของกรมบังคับคดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงในวันนี้คือหนี้ที่มีคำพิพากษาทางแพ่งเมื่อส่งไปที่กรมบังคับคดี ทั้งที่ตั้งเรื่องและไม่ได้ตั้งเรื่องรวมแล้ว 16 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ มีหนี้ของสถาบันการเงินเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนี้อีกก้อนหนึ่งที่เป็นก้อนใหญ่คือหนี้ กยศ. ซึ่ง หลังจากที่แก้กฎหมายไปแล้ว โดยหลังจากวันที่ 20 มีนาคม 2566 กฎหมายเก่าถูกยกเลิกทางกยศ. ต้องไปคิดหนี้ใหม่ คือ ให้มีการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยปรับไม่เกิน 1.50 บาท นอกจากมีกรมบังคับคดีแล้วก็จะมีศูนย์ยุติธรรมชุมชนทุกแห่ง ที่จะเข้ามาช่วยดูแลเช่นกรณีของบัตรเครดิต ซึ่งปกติมีอายุความ 2 ปี แต่ในกฎหมายแพ่งเขียนเงื่อน การยกอายุความ ต้องให้ลูกหนี้เป็นคนยก ไม่ใช่เจ้าหนี้ยก หากลูกหนี้ไม่ยกในวันฟ้อง หรือวันที่มาต่อสู้คดี ลูกหนี้ก็ไม่สามารถเอาสถานะเรื่องของอายุความเอามาใช้ได้ จึงทำให้ถูกฟ้องเรื่องบัตรเครดิตลุกลามไปถึงการยึดบ้าน ดังนั้นวันนี้จึงเห็นว่าเรื่องนี้ ต้องทำให้ประชาชนทุกคนรู้ถึงสิทธิของตัวเอง ว่าหากใครเป็นหนี้บัตรเครดิต ต้องตรวจดูว่า หากเกิน 2 ปีลูกหนี้ต้องเขียนคำร้อง ซึ่งจะช่วยบรรเทาลูกหนี้ ส่วนเจ้าหนี้ก็ อยากบอกด้วยว่าเมื่อคุณได้เปรียบทางช่องกฎหมาย ก็ควรจะบอกลูกหนี้

อย่างไรก็ตามในเรื่องของหนี้นอกระบบจะมีสำนักคุ้มครองพยาน ที่จะมาร่วมมือกับทางรัฐบาล ยืนยันว่าเราจะใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งและจริงจัง กระทรวงยุติธรรม จะยึดหลักความยุติธรรม ซึ่งปกติมักจะมีคนพูดกันว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายแต่เราจะเป็นที่พึ่งแห่งแรกในการแก้หนี้ให้กับประชาชน โดยใช้ยุติธรรมชุมชน และยุติธรรมจังหวัด นำความยุติธรรมไปถึงชาวบ้าน หยิบปัญหาหนี้ของประชาชนมาช่วยแก้ไข โดยทั้งหมดนี้ จะเป็นการทำตามนโยบายรัฐบาล และครั้งนี้ถือว่าเป็นการแก้หนี้ให้กับประชาชนแบบ 360 องศา และเชื่อว่ายั่งยืนต่อไป ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ในเรื่องของการแก้หนี้ให้กับประชาชนและเชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากนำมาเป็นคดีพิเศษแล้วจะมีโทษอย่างไรบ้าง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า จะมีมีโทษอั้งยี่ด้วย โดยจะมีการยึดทรัพย์ เมื่อถามว่า16 ล้านล้านบาทนั้น เป็นมูลหนี้ปัจจุบันใช่หรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เป็นมูลหนี้ที่อยู่ที่กรมบังคับคดี ซึ่งต้องบังคับคดีไปตามกฏหมาย ที่จะต้องให้ความเป็นธรรม เป็นการไปช่วยบรรเทา

"หนี้ข้าราชการ ถือเป็นหนี้ที่น่าสงสารที่สุด เพราะถ้าถูกฟ้องล้มละลายก็ต้องถูกออกจากราชการ ถือเป็นมะเร็งร้าย ที่เราจะต้องมีวิธีคิดดอกเบี้ยใหม่ ส่วนหนี้บัตรเครดิตที่ต้องกำหนดดอกเบี้ย 18%นั้น เป็นเรื่องที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามากำหนดเพดานและเข้ามาคุม เราต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงเรื่องอายุความ ก็จะทำให้ เป็นการช่วยเหลือประชาชน ไม่ต้องถูกยึดบ้าน ประชาชนก็จะไม่แพ้คดี"