การเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่เวลานี้ได้มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหามากขึ้น เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง สร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย

ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในการแก้ปัญหาที่มีความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายกฎหมาย โดยมี “ประชาชน” เป็นที่ตั้ง!!

ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการแก้หนี้นอกระบบในวันที่ 1 ธันวาคม นี้ และจะมีกลไกในการติดตามความคืบหน้าภายใน 15 วัน

โดยงานนี้ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” ออกมาพูดด้วยตัวเองว่า การแก้ไขหนี้วันนี้ไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ แต่ตนมั่นใจว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ต้องก่อหนี้ อีกในอนาคต และทำให้ประชาชนรายย่อย เข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้มากขึ้น ตนจะทำให้โครงการนี้ช่วยเหลือปลดปล่อยประชาชนจากหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลังใจมีแรงใจ ไม่กลับไปเป็นหนี้ท่วมตัวอีก หลังขั้นตอนไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้าง หนี้โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งเงื่อนไขและกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดเบียนการใช้ชีวิต

เช่นเดียวกับที่ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า หลังจากไกล่เกลี่ยหนี้และปรับโครงสร้างหนี้เสร็จแล้ว กระทรวงการคลังในฐานะที่กำกับดูแลธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการเพื่อสร้างอาชีพให้กลุ่มลูกหนี้เหล่านี้ต่อ โดยธนาคารออมสิน มีโครงการสินเชื่อ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการ รายย่อย วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท ผ่อนชำระ นานสูงสุด 8 ปี และ ธ.ก.ส. สินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและ ผู้ยากจน เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกันหนี้ วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี

ขณะที่ “ลวรณ แสงสนิท” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการสินเชื่อเพื่อรองรับลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบให้ ครม.พิจารณาตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้โอกาส ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งต้องปรับหลักเกณฑ์ให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบได้

นอกจากปล่อยสินเชื่อให้แล้ว หน่วยงาน ของรัฐ จะมีมาตรการเสริม คือ ส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้นำมาผ่อนชำระได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน และเป็นการเอาจริงเอาจังการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ อีกครั้ง

"กระทรวงการคลัง จะรับไม้ต่อหลังจากนายอำเภอและผู้กำกับการ ลงพื้นที่สำรวจ หรือเอกซเรย์พื้นที่ ได้รายชื่อเจ้าหนี้ และลูกหนี้นอกระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันแล้ว ลูกหนี้ต้องการเข้าสู่ระบบ กระทรวงการคลัง จะมีมาตรการสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ด้วย เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินของรัฐ การที่คนไปเป็นหนี้นอกระบบ เพราะกู้เงินในระบบไม่ได้ ดังนั้นรัฐก็ต้องมาพิจารณาปรับเกณฑ์ เพื่อให้ผ่อนชำระค่างวดได้"

และอย่างที่เข้าใจกัน “การแก้ปัญหาหนี้ของประชาชน” ไม่ใช้จะมีแต่การใช้เงินแก้ปัญหา แต่ก็มีเรื่องของกฎหมายในการไกล่เกลี่ย และปราบปราม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ “กระทรวงมหาดไทย”

งานนี้ “อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย จะทำงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยความร่วมมือกัน ระหว่างนายอำเภอ และผู้กำกับสถานีตำรวจ ศึกษาวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานปฏิบัติงานให้เข้าใจกระบวนการร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ การไกล่เกลี่ย และประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้จะประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การแก้ไขหนี้นอกระบบไม่ซ้ำซ้อน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งจะร่วมกันดำเนินการในทุกภาคส่วนอย่างถูกต้อง โปร่งใส ให้ความเป็นธรรม และเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการเป้าหมาย และตัวชี้วัด (KPIs) ให้ชัดเจน โดยประชาชนที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยนแก้ไขหนี้จากนอกระบบ ให้เป็นหนี้ในระบบ สามารถลงทะเบียนได้ที่ ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง

และส่งท้ายเรื่องนี้อาจจะเรียกได้ว่าบทสรุปของเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยทางบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) “สุรพล โอภาสเสถียร" ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวถึงภาพรวมหนี้สินครัวเรือนไทย ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรไตรมาส 3 ปี 2566 ว่า ภายใต้ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่ในข้อมูลของเครดิตบูโรที่ 13.5 ล้านล้านบาทในนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท หรือ 7.7% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหากเทียบกับ ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่หนี้เอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท

ขณะที่หนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างปัจจุบันเพิ่มมาอยู่ที่ 9.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 9.8 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อ จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือหนี้ที่ ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน (SM)เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.7% จากไตรมาสก่อนหน้า

หากดูไส้ในของหนี้เอ็นพีแอล พบว่า หลักๆ ใน 1.05 ล้านล้านบาท มาจากสินเชื่อรถยนต์ ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น 2.07 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีหนี้เสียเพียง 1.7 แสนล้านบาท และเติบโตขึ้นราว 5.8%จากไตรมาส ก่อนหน้า หรือหากดูเป็นจำนวนรายบัญชี พบว่า มีหนี้เสีย จากสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมาเป็น 6.94 แสนบัญชี เพิ่มขึ้น 8.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนเช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคล ที่มีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาเป็น 5.5 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 4.9 % หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพียง 5.2 ล้านบัญชี

กลุ่มที่เป็นหนี้เสียมากที่สุดพบว่า ยังมาจากกลุ่มเจนวายที่เป็นหนี้เสียอยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท หรือ 6.5% หากเทียบกับ สินเชื่อเจนวายทั้งหมด ถัดมาคือ เจนเอ็กซ์ มีหนี้เสีย 2.8 แสนล้านบาท หรือ 6.9% เบบี้บูมเมอร์ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท เจนแซด 1.8 หมื่นล้านบาท

บทสรุปแนวทางแก้ปัญหาหนี้ประชาชนของรัฐบาล “เศรษฐา” จะเป็นอย่างไร!?! จะแก้ปัญหาได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่!?!

ต้องคอยติดตามกันต่อไป!

++++++++++++++++++++++++++++++