บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันเป็นที่จับตามองของสังคมอีกครั้ง เมื่อมีการประกาศว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 มีมติอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 10% ภายใน 2 ปี โดยผู้มีวุฒิปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 และข้าราชการเดิมที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่า 18,000 บาท จะมีการปรับชดเชยย้อนหลังให้ได้ระดับมาตรฐานเดียวกัน และข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับเงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราว รวมแล้วน้อยกว่า 10,000 บาท จะมีการปรับให้ถึง 11,000 บาท สิ้นเสียงประกาศการปรับเงินเดือนข้าราชการจากรัฐบาล ในแวดวงข้าราชการและประชาชนเป็นที่ฮือฮาและถกเถียงกันอีกครั้ง เมื่อกลุ่มข้าราชการส่วนใหญ่กลับรู้สึกฉงนว่า แล้วกลุ่มข้าราชการที่ทำงานมานานมีอัตราเงินเดือนสูงกว่า 18,000 บาท ถูกลืมหรือตกหล่นได้อย่างไร เพราะคนกลุ่มนี้บางคนทำงานมาตั้งแต่รับเงินเดือน 7,000-8,000 บาท กลับมองตากันปริบๆ เมื่อข้าราชการรุ่นน้องบรรจุใหม่รับเงินเดือนเท่ากัน ซึ่งค่อนข้างจะบั่นทอนกำลังใจไม่น้อย ในขณะที่กลุ่มประชาชนก็รู้สึกว่า เหตุใดข้าราชการจึงได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลก่อนที่ประชาชนตาดำๆ จะได้รับสวัสดิการใดๆ จากรัฐบาล ถึงขั้นที่ว่า ประชาชนบางคนถามว่า ทำไมรัฐบาลไปให้เงินข้าราชการที่เดือดร้อนน้อยกว่าก่อนกลุ่มประชาชนอย่างตนที่เดือดร้อนซ้ำซาก

ประชานิยม (Populism) อีกแล้ว

เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า รัฐบาลกำลังมีความพยายามทำตามนโยบายหาเสียงของตน เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือสัญญาใจ หรือ “สัญญาประชาคม” (Social contract) เบื้องต้นที่นักการเมืองได้หาเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองในประเทศไทยทุกพรรคมุ่งชูนโยบายที่มีลักษณะเป็น “นโยบายประชานิยม” (Populism) ทั้งสิ้น ต้นแบบจากรัฐบาลทักษิณถือเป็น “ประชานิยมทางเศรษฐกิจ” (Economic Populism) ไม่เว้นแต่พรรคการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งลงสนามการเมืองได้ไม่นาน ก็ยังคงมุ่งนโยบายหาเสียงที่มีลักษณะให้ประโยชน์แก่ประชาชนดังกล่าวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามโดยเห็นว่า บางพรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียงที่ประชาชนรู้สึกว่า “เป็นนโยบายขายฝัน” เพราะอาจทำไม่ได้หรือทำได้ยาก เมื่อได้รับเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พรรคการเมืองเหล่านั้นย่อมต้องพยายามผลักดันนโยบายหาเสียงของตนให้เป็นจริงให้ได้ มิใช่เพียงรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นในทุกรัฐบาลที่ผ่านมาที่ต้องผลักดันนโยบายที่ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะทำได้ ให้เป็นจริงอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กัญชาเสรีซึ่งเป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงของพรรคภูมิใจไทยให้เป็นจริงให้ได้ แม้จะมีเสียงคัดค้านมากเพียงใดก็ตาม หรือแม้กระทั่งนโยบายแจกเงินของรัฐบาลลุงตู่ รวมมาถึงปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ที่กำลังจะสร้างหนี้ให้กับประเทศด้วยการกู้เงินเช่นกัน ที่ถือเป็นการกู้เงินมาอย่างต่อเนื่องต่อจากรัฐบาลชุดก่อน โดยไม่มีแผนว่าต้องรออีกนานเพียงใดประเทศไทยจึงจะใช้หนี้ได้หมด และแน่นอนว่า หนี้เหล่านี้จะถูกผลักภาระให้ประชาชนต้องเป็นผู้จ่าย ที่อาจยาวนานถึงรุ่นลูกรุ่นหลานรุ่นเหลน หากมองอย่างไม่ลำเอียงแล้ว จะเห็นว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้ เป็น “กับดัก” (Trap) ที่แท้จริงในการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทย เพราะจะเข้มแข็ง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้อย่างไร หากอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “หนี้ท่วมหัว” เพราะหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่สะสมมานานโดยในปี 2563 สูงถึง 90% ของ GDP และปัจจุบัน (2566) ไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6%

มีคำถามย้อนว่า เหตุใดรัฐจึงไม่มีการควบคุมการหาเสียงของเหล่าพรรคการเมือง เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทาง ไม่ให้เกิดการพยายามผลักดันนโยบายขายเสียงให้เป็น “นโยบายสาธารณะ” ที่จะเป็นปัญหาในอนาคต เพราะแน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลจะต้องพยายามผลักดันทุกวิถีทาง เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ” อยู่ในมือ จนกระทั่งบางคนอาจสงสัยว่า รัฐบาลสามารถทำได้ทุกอย่างตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ หาเสียงเกินจริง หาเสียงแล้วทำไม่ได้ ถือว่าหลอกลวงหรือไม่ มีบทบัญญัติลงโทษโดยตรงหรือไม่ เพราะแม้จะมีบทกฎหมายมาสกัดหนทางเหล่านั้น รัฐบาลก็จะแก้กฎหมายเพื่อผลักดันนโยบายจนสำเร็จเสมอ แม้บางนโยบายอาจสำเร็จแบบไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็ยังถือว่า พรรคเหล่านั้นได้ทำตามที่สัญญาแล้วไม่มากก็น้อย ที่ผ่านมากฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จะมีฉายาว่า “เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง” แต่ยังในทางปฏิบัติยังใหม่อยู่ ยังไม่มีบรรทัดฐานจากศาล หรือศาลรัฐธรรมนูญที่ออกฤทธิ์อย่างมาตรฐานอย่างสากล แต่ดูว่าจะไปออกฤทธิ์ในทางหยุมหยิมที่อาจไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน (Free Speech) เสียมากกว่า ที่ชั่งน้ำหนักแล้วอาจยังไม่สมราคาฉายารัฐธรรมนูญปราบโกง เพราะผิดเจตนารมณ์ (เจตจำนง) เสรี แม้จะมีเสียงแย้งทวนจากองค์กรสิทธิบ้างก็หาเป็นผลไม่ เพราะความเป็นสถาบันตุลาการภิวัตน์ขององค์กรดังกล่าวยังมีอยู่สูง

วิกฤตหรือไม่วิกฤตในการกู้เงิน

ในความเป็นจริงแล้ว การกระทำของรัฐบาลย่อมต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และการกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะรัฐบาล คือ “ฝ่ายปกครอง” ในสายตาของกฎหมาย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law) โดยเฉพาะหลักการมีส่วนร่วม (Participation) ของประชาชน ตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ที่ผ่านมาเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลฝ่ายอำนาจรัฐบ่อยครั้งมักค้านสายตาประชาชน จึงมีประชาชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า การกระทำของรัฐบาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากประชาชนทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายกองเชียร์ กองหนุน ฝ่ายค้าน ฝ่ายไอโอ ฝ่ายสีเสื้อต่างๆ แม้แต่นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ของรัฐบาลนี้ก็เช่นกัน ด้วยมีการผูกพันใช้เม็ดเงินเป็นจำนวนมาก ก็ต้องถูกตรวจสอบว่า การตรา พ.ร.บ.เงินกู้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร สถานการณ์ของประเทศตอนนี้ (ปัจจุบัน) เข้าสู่ภาวะ “วิกฤต” จริงหรือไม่

และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 ขัดหรือแย้งกันหรือไม่ เพราะมาตรา 53 ที่บัญญัติว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ... กล่าวคือ เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ที่ระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงขอรัฐบาลพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะรัฐต้องเป็นตัวอย่างในการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ตามมาตรา 9 ที่บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้ อย่างเคร่งครัด … และตามมาตรา 140 ที่บัญญัติว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ...

เพราะหากการกระทำเหล่านี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาลอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเองมีทีมกฎหมายที่เข้มแข็งที่หลายภาคส่วนเชื่อว่า นโยบายนี้จะสามารถผลักดันจนสำเร็จได้ แม้จะต้องนำพาประเทศไปเป็นหนี้อีกหลายแสนล้านก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลลุงตู่ก็เคยประสบปัญหาเช่นนี้มาแล้ว และได้รับคำตอบว่า เป็นการออกพระราชกำหนดโดยอ้างเหตุฉุกเฉินสถานการณ์โควิดได้ แล้วค่อยมาผ่านสภาภายหลังตามรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่า นโยบายประชานิยมนี้ จึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันกับ หนี้สาธารณะอยู่เสมอ มิใช่เพียงรัฐบาลเศรษฐาเท่านั้น รัฐบาลลุงตู่ก็ทำมาแล้วเหมือนกันเช่นกัน เพียงแต่เสียงคัดค้านจากแบงค์ชาติและฝ่ายต่างๆ ที่ออกตัวคัดค้านเสียงแข็งแบบนี้ จะไม่มีหรือมีน้อยกว่าเท่านั้น มองในแง่ดีจะดีว่า เสียงสะท้อนจากประชาชนเหล่านี้ปัจจุบันมีเสียงดังขึ้นและชัดเจนขึ้น สะท้อนถึงความมีเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญและตามระบอบประชาธิปไตย

การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา “เลือกแจกคนบางกลุ่ม” ไม่แตกต่างจากการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการก็เป็นการเลือกปรับเงินเดือนให้ข้าราชการบางกลุ่มเท่านั้น คือเอากลุ่มข้าราชการบรรจุใหม่ก่อน มิใช่ปรับทั้งกระดานดังเช่นในสมัยนโยบายเงินเดือน 15,000 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ข้าราชการทุกคนได้รับการปรับเงินเดือนโดยกลุ่มผู้ที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาทจะได้ปรับขึ้นในอัตราที่เป็นขั้นบันไดถ้วนหน้า รวมทั้งการแจกเงินที่ไม่เหมือนในสมัยรัฐบาลลุงตู่ที่เป็นการแจกทุกคนไม่จำกัดกลุ่มคน ในขณะที่รัฐบาลเศรษฐาเลือกแจกบางคนบางกลุ่มเท่านั้น จึงเกิดคำถามตามมาว่า เมื่อทุกคนเป็นหนี้ร่วมกัน รับใช้หนี้ร่วมกันแล้ว ทำไมจึงไม่ได้ประโยชน์บ้าง หากมองอีกมุมอาจเป็นเรื่องดีว่า ประหยัดตัดที่จำเป็นน้อยออกก่อน เพราะหากแจกทุกคนทุกกลุ่ม หนี้คงมหาศาลมากกว่านี้อีก มองอีกมุมว่า งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลใช้จ่ายอยู่ต้องถูกผลักภาระมาให้ประชาชนอยู่เสมอ จะผสานประโยชน์เหล่านี้ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงได้อย่างไร คงเป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบให้ได้ หรือว่าเพราะมันนำไปสู่คำถามสุดท้ายที่ว่า นโยบายประชานิยมเช่นนี้ จะต้องอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานเพียงใด และนโยบายแบบนี้จะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืนได้หรือไม่ อย่างไร หากมหากาพย์ของการกู้มาแจกยังไม่หมดไป อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร เหล่านี้เป็นโจทย์คำถามที่คนไทยต้องช่วยกันหาคำตอบให้ได้

บทสรุปของข้อถกเถียงวนเวียนมาคำเก่าคำเดิม

วิพากษ์กันมากมาย หลากหลายมาก ก็มีแต่คำเดิมๆ คำเก่าๆ วนเวียน เถียงกันไม่จบ จำได้ว่าเรื่องเงินดิจิทัลนี้บทสำคัญเริ่มต้นมาจากข้อทักท้วงของพรรคก้าวไกลในวันแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อ 11 กันยายน 2566 พรรคก้าวไกลเสนอปัญหาไว้ 5 ข้อโดนๆ ทั้งนั้น และต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 คุณวิรังรอง ทัพพะรังสี ได้เสนอข้อคัดค้านนโยบายเงินดิจิทัลอีกใน 7 ประเด็น ตอกย้ำเพิ่มจากข้อเสนอแนะของพรรคก้าวไกล และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 อ.ศ.ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ เสนอบทความในสำนักข่าวอิศรา วิพากษ์วิเคราะห์สรุปปัญหาไว้แทบครบทุกประเด็น วนเวียนประเด็นเดิมๆ กันอยู่เท่านี้จริงๆ

มีจุดกลางที่ยอมรับความเห็นต่างในนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตกันหรือไม่ เป็นข้อคิดที่ดีกว่า เดิมทีก่อนการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยหาเสียงประกาศนโยบาย Blockchain Hub แห่งอาเซียน กระเป๋าเงินดิจิทัลด้วยบล็อคเชน จะสร้าง Blockchain ของประเทศไทยเอง เพื่อใช้ซื้อขายสินค้าเกษตร และทำ NFT (Non-Fungible Token) ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า จนสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ชู “นโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาทที่รัฐบาลจะดำเนินการใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาททำได้แน่นอน และยังสามารถหมุนเวียนเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็น 1-1.5 ล้านล้านบาท…” ครั้นต่อมา รอตั้งนาน เพราะความคิดในนโยบายนี้ยังไม่ชัดเจน เช่นว่า ตกลงจะแจกใคร และเอาเงินมาจากไหน สุดท้ายรัฐบาลอ้างว่า เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพราะ GDP ตกจำเป็นเร่งด่วนต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกู้เงินมาแจกเป็นเงินดิจิทัล อ.ศ.ดร.เรืองวิทย์ ชี้ว่าเรื่องนี้มหาชนคนส่วนใหญ่จึงจำต้องหาฉันทามติร่วมกันเสียก่อน หากยังมีคนเสนอเป็นอย่างอื่น ก็ควรรับฟังและนำมาปรับปรุง ไม่ใช่โต้ทุกดอก เพราะไม่ใช่ชกมวยที่ต้องใส่อาวุธใส่กันไม่ยั้ง หรือ ไม่จำเป็นต้องบดขยี้เสียงค้านทุกกรณี เพราะรัฐบาลกระทำในนามสาธารณะ เป็นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ (accountable government) ซึ่งมีผลผูกพันต่อคนทุกคน นโยบายแจกเงินดิจิทัลทำได้หรือไม่ได้ แต่ใช้คำนามธรรม เช่น คำว่า “วินัยการเงินการคลัง” หรือคำว่า “สมเหตุสมผล” คำเหล่านี้แล้วเป็นดุลพินิจ และเป็นอำนาจดุลพินิจ (discretion power) ทั้งนั้น สถาบันสุดท้ายจริง ก็เป็นสถาบันนิติบัญญัติ รัฐสภาไทยคงเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้ายว่า “อนุมัติ” นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทหรือไม่ แท้จริงปัญหาคือ ปัญหาสวัสดิการสังคมและไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอภิสิทธิ์ชนมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยมหาศาล ปล่อยให้คนจนเผชิญทุกข์อยู่ท่ามกลางระบบเสรีนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

การกู้เงินมาแจกมันดีหรือไม่ดี อย่างไร ย่อมมีสิทธิดีเบตกันได้

อ.ศ.ดร.เรืองวิทย์ เห็นว่า เป็นนโยบายสาธารณะก็เรียกว่า “lock in effect” หมายความว่ามันไม่มีทางเลือกทางอื่น เริ่มนโยบายประชานิยมแล้ว ก็ต้องประชานิยมไปเรื่อยๆ ทุกยุคทุกสมัย รัฐบาลก่อนเขาก็กู้

อย่างไรก็ตาม ดานี รอดริก (Dani Rodrik, 2018) นักเศรษฐศาสตร์ชาวตุรกี แห่ง ม.ฮาร์วาร์ด บอกว่า “นักเศรษฐศาสตร์ไม่ชอบประชานิยม และไม่ชอบด้วยเหตุผลที่ดีด้วย คำคำนี้ทำให้นึกถึงความไม่รับผิดชอบ ความไม่ยั่งยืน และมักจะจบลงด้วยหายนะและทำให้คนธรรมดาต้องเจ็บปวดทั้งๆ ที่เป็นคนกลุ่มที่นโยบายนี้มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือ”

คงเป็นเรื่องเศรษฐกิจเศรษฐศาสตร์การเมือง Macro (มหภาค) ที่ต้องมอง Micro (จุลภาค) ไปด้วยเพื่อสร้างจุดสมดุล มีการยอมรับในความเห็นต่าง ความเหมาะสมกับสถานการณ์ จุดคุ้มทุน จุดดีที่สุด ทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Means to Ends อย่างมีประสิทธิภาพ นิสัยคนไทยนี่ชอบติกันจริง หากว่าเป็นการติเพื่อก่อจริงก็น่ายินดี อย่างว่าแหละมุมมองว่าปัญหาใดวิกฤติหรือไม่วิกฤติก็ยังมองไม่เหมือนกัน ท่านลองว่าสิอันไหนสำคัญกว่ากัน ช่วยกันตอบหน่อย “ปัญหาการเมือง หรือปัญหาปากท้อง” อันไหนวิกฤติกว่ากัน แล้วค่อยมาหาคำตอบว่าพร้อมแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต “แบบประชานิยม” กันเมื่อไหร่ดี กลางปีหน้าไหวไหม