ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

การเกิดมาท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลายคนก็ปรับตัวไม่ได้ และกลายเป็นคนหลงยุคก็มี

ชนินทรเกิดเมื่อ พ.ศ. 2538 หรือ ค.ศ. 1995 และพออีก 5 ปีต่อมาก็เข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม ที่ตอนนั้นเรียกกันสั้น ๆ ว่า ปี Y2K หรือ ค.ศ. 2000 นั่นเอง สื่อต่าง ๆ พากันประโคมข่าวว่าจะเกิดปัญหาใหญ่ในการสื่อสารของโลก อาจจะถึงขั้นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตล่ม หรือมีปัญหาของระบบและเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ตอนนั้นเพิ่งจะก้าวเข้าสู่ยุคของการสื่อสารแบบไร้สาย และโทรศัพท์มือถือก็เพิ่งเริ่มแพร่หลาย เพราะมีราคาถูกลง มีลูกเล่นหรือฟีเจอร์ต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้มีผู้ใช้มากขึ้น พร้อม ๆ กับความตื่นตระหนกที่มากขึ้นไปทั่วทุกภาคส่วนเช่นกัน ถึงขั้นที่แต่ละประเทศประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน และให้ระมัดระวัง “หายนะ” ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดในช่วงวันเวลาที่เปลี่ยน ค.ศ. เป็นปี 2000 นั้น (อย่างเช่นทางราชการของประเทศไทยถึงกับตั้งคณะกรรมการระดับชาติเข้าดูแล รวมถึงที่ให้มีการเข้าเวรของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับกับปัญหา แต่ครั้นพอถึงเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2543 ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ความเครียดที่เป็นกันมาหลายเดือนหายไปในทันที)

นักเศรษฐศาสตร์แบ่งช่วงวัยของประชากรบนโลกก็ในช่วงที่คนกำลังตื่นเต้นกับพัฒนาการของระบบคอมพิวเตอร์นี้เอง โดยแบ่งคนในยุคปลายทศวรรษ 1990 เป็น 3 รุ่น หรือเจเนอเรชัน เรียกย่อ ๆ ว่า “เจน” (Gen) คือ Gen X , Gen Y , และ Gen Z โดย Gen X คือคนที่เกิดช่วง ค.ศ. 1965 ถึง 1980 Gen Y เกิดช่วง ค.ศ. 1981 ถึง 1996 และ Gen Z เกิดช่วง ค.ศ. 1997 ถึง 2012 (จะสังเกตเห็นว่ามีการแบ่งมาถึง ค.ศ. 2012 แค่นั้น เพราะตอนที่นักเศรษฐศาสตร์ศึกษาเรื่องนี้ใช้เกณฑ์เรื่องความสามารถในการสื่อสารผ่านระบบคอมคอมพิวเตอร์เป็นเกณฑ์ชี้วัด ซึ่งมียุคการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงปลายทศวรรษปี 1990 ที่กำลังจะเปลี่ยนสหัสวรรษดังกล่าว) ทั้งนี้พวก Gen Y ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า The Millennials ตามความเห่อช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนสหัสวรรษนั้นด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ทำนาย(เมื่อ ค.ศ. 1997)ว่า คน Gen Y จะเป็นกลุ่มคนที่ “ครองโลก” ในยุคสหัสวรรษใหม่ โดยบอกว่าคนกลุ่มนี้จะมีอำนาจมากในช่วงที่พวกเขามีอายุ 30 - 50 ปี คือใน ค.ศ. 2015 จนถึง 2035 (นับจาก ค.ศ. 1985 ที่คนพวกนี้ถือกำเนิด) อันเนื่องด้วยจะเป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนมากที่สุด ที่พร้อมด้วยช่วงวัยในการทำงานที่เป็นหลักของสังคม มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างมั่นคงจนถึงมั่งคั่ง รวมถึงที่เข้าไปมีบทบาทในทางการเมือง ที่จะทำให้การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามความต้องการของคนกลุ่มนี้ นอกเหนือจากที่เป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากที่สุด และเป็นผู้ที่ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ มากที่สุด อนึ่งในทางจิตวิทยา คนกลุ่มนี้จะมีความเป็นของตัวเองสูง มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก จนถึงขั้น “หลงตัวเอง” (ฝรั่งใช้คำว่า Narcissism ที่ได้ชื่อมาจาก Narcisus ในตำนานเทวดากรีกที่หลงรูปตัวเอง ถึงขนาดมองเงาใบหน้าของตัวเองในน้ำแล้วตะลึงนิ่งไป จนกลายเป็นต้น Narcisus พืชชนิดนี้มีหัวเติบโตได้ดีในแอ่งน้ำตื้น ๆ ใบคล้าย ๆ ใบกุยช่าย ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอม จีนเรียกว่าดอกแปะฮวย หรือดอกไม้ขาว) ฝรั่งจึงมีชื่อเรียกคนกลุ่มนี้อีกอย่างว่า Gen Me หมายถึง “กลุ่มของพวกฉัน” เพราะความเป็นตัวของตัวเองและเอาแต่ใจตัวเองมาก ๆ ดังกล่าว โดยนักจิตวิทยาให้เหตุผลว่า เด็กพวกนี้เกิดมาในยุคที่สถานการณ์ต่าง ๆ บนโลกค่อนข้างสงบเรียบร้อยและมั่นคง พ่อและแม่ของพวกเขาล้วนแต่มีฐานะเศรษฐกิจค่อนข้างดีและมีการศึกษาสูง ทำให้เด็กพวกนี้เกิดในมาในยุคที่สุขสบายและได้รับการปรนเปรอเป็นอย่างดีจากพ่อแม่ พ่อแม่พยายามปลุกปั้นให้ดีที่สุด จึงส่งผลต่อจิตใจที่เอาแต่ใจและมุ่งหวังแต่ชีวิตที่ “เหมือนฝัน” อยู่ตลอดเวลา

ชนินทรเกิดมาในครอบครัวที่เรียกตามศัพท์ของนักสังคมวิทยาว่า “ชนชั้นกลาง” โดยพ่อแม่เป็นคน Gen X ที่เกิดช่วงหลังกึ่งพุทธกาล (หลัง พ.ศ. 2500) ญาติทั้งของพ่อและแม่เป็นคนต่างจังหวัด ปู่และย่ากับตาและยายมีอาชีพทำนา แต่ได้หาเงินส่งลูกมาเรียนต่อชั้นมัธยมในกรุงเทพฯ จนจบมหาวิทยาลัย อันถือเป็นเส้นทางของชาวชนบทที่จะเติบโตก้าวหน้าไปด้านต่าง ๆ ของชีวิต ซึ่งในยุคนั้นไม่มีอาชีพอะไรดีไปกว่าการรับราชการ พ่อของเขาจบครุศาสตรบัณฑิตและสอบเข้ารับราชการได้เป็นครูโรงเรียนมัธยม แม่ของเขาจบนิเทศศาสตรบัณฑิตและสอบเข้ารับราชการได้ในสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งสองคนมาเจอกันครั้งแรกโดยบังเอิญในงานประจำปีของมหาวิทยาลัย แล้วต่อมาอีก 2 - 3 เดือน พ่อก็ไปรับรางวัลเกี่ยวกับการเรียนการสอนจากนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วมีแม่มาทำรายงานข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ แล้วก็พัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การคบหาเป็นคนที่รักใคร่ชอบพอกัน กระทั่งแต่งงานกันในที่สุด หลังจากที่คบหากันอยู่สัก 4 ปี

แม่อายุอ่อนกว่าพ่อ 2 ปี ตอนที่แต่งงานกันนั้นอายุของทั้งสองคนก็เกิน 30 ปีแล้ว ญาติของทั้งสองฝ่ายก็เร่งให้มีลูกกันเร็ว ๆ เพราะอายุเริ่มจะมากจะมีลูกยาก แต่ทั้งสองก็มามีชนินทรในปีที่ห้าของการแต่งงาน ทั้งนี้ก็ด้วยปัญหาว่าทั้งสองยังเป็นข้าราชการระดับผู้น้อย จึงได้รอจนกว่าพ่อได้ตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดและมีเงินประจำตำแหน่ง เช่นเดียวกับแม่ที่ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้างานก็ได้เงินประจำตำแหน่งเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นคงในการเลี้ยงดู เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับลูกทั้งในด้านการเติบโตและอนาคตทางด้านการศึกษากับอาชีพ อีกทั้งก็อยากจะทุ่มเทให้กับลูกคนนี้เป็นอย่างดีที่สุด จึงไม่ได้มีลูกเพิ่มมาอีก ไม่ใช่ว่าจะมีปัญหาเรื่องการเงินดังแต่ก่อน แต่เป็นด้วยภาระหน้าที่การงานของทั้งพ่อและแม่เองก็มากขึ้นและหนักขึ้นตามตำแหน่งที่เติบโตขึ้นนั้น ชนินทรจึงเป็นลูกโทน และเป็น “หัวแก้วหัวแหวน” ดังที่พ่อแม่ตั้งใจนั้น

ผมรู้จักครอบครัวนี้พอสมควรโดยบังเอิญก็ด้วยการพบกับชนินทรนั้นก่อน คือใน พ.ศ. 2550 ผมจับพลัดจับผลูได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 นอกเหนือจากต้องทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ ของสมาชิกรัฐสภาแล้ว ก็ยังต้องมีหน้าที่ในการให้บริการแก่ประชาชน โดยผมรับอาสาบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของรัฐสภา รวมถึงที่มีนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่มา “ทัศนศึกษา” ในรัฐสภานั้นด้วย ซึ่งตอนนั้นชนินทรก็มากับคณะนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง โดยเป็นนักเรียนในชั้นมัธยมต้น หลายวันต่อมาแม่ของชนินทรที่มาประสานงานกับรัฐสภาก็มีธุระมาหาผม ก่อนจะเริ่มคุยธุระเธอก็แนะนำตัวเองว่าเป็นคุณแม่ของน้องชนินทรที่มาทัศนศึกษาที่รัฐสภานี้เมื่อหลายวันก่อน แล้วคุยถึงชนินทรว่าเขาชอบการเมืองมาก แม้จะเป็นอายุเพียง 12 ขวบในตอนนั้น เธอเป็นห่วงลูกว่าจะ “เตลิดเปิดเปิง” ผมก็ได้แต่รับฟังไว้ และปลอบเธอว่าเดี๋ยวพอเวลาเปลี่ยนไป ชนินทรก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเอง ตอนนี้ก็พยายามให้ลูกอยู่ในสายตา เพราะเป็นวัยรุ่นและเป็นวัยที่อาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย ๆ แต่นั่นแหละเรื่องการเมืองมันก็ควบคุมยาก เพราะสื่อต่าง ๆ มันรายรอบตัวเรา สังคมก็เปิดกว้าง คงต้องทำใจให้สบายและปรับตัวให้เข้ากับลูกให้ได้ อย่างหนึ่งคือรับฟังเขาให้มาก แล้วลูกก็จะอยู่ในสายตาของเราเสมอ

แล้ววันหนึ่งก็มีข่าวเกี่ยวกับชนินทร แต่เป็นข่าวที่ไม่ดีนัก ทำให้คุณแม่ของชนินทรต้องมาขอความช่วยเหลือจากผม ซึ่งเรื่องของชนินทรกำลังเป็นคดีความ อันเป็นด้วย “การเปลี่ยนแปลงแห่งสหัสวรรษ” นั้น