นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ทดสอบการเดินทางข้ามระบบรถไฟฟ้าในอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยระบุว่า หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ระยะที่ 1 สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 บาท และผู้โดยสารที่เดินทางในระบบรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2566 พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย โดยรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7,824 คน คิดเป็น 13.73% และรถไฟชานเมือง สายสีแดง มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,465 คน คิดเป็น 20.64% (ข้อมูลเปรียบเทียบก่อน – หลังดำเนินมาตรการฯ ถึงวันที่ 27 พ.ย. 2566) เนื่องจากสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพด้านการเดินทางให้แก่ประชาชนได้จริง อีกทั้งผลการศึกษายังพบว่าหากปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้งสองสายเพิ่มขึ้นถึง 1 แสนคน จะถึงจุดคุ้มทุนโดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยสนับสนุน ซึ่งมีแนวโน้มว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้ามีจุดเชื่อมต่อการเดินทางมากขึ้น
ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ทำให้สายสีแดง และสายสีม่วงขาดทุนวันละหลายล้านบาทนั้น ขอชี้แจงว่า การบริการสาธารณะเป้าหมายไม่ใช่กำไรอยู่แล้ว โดยกำไรมองได้ทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งทางตรงดูจากผลกระประกอบการ แต่ทางอ้อม จะได้กำไรทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และนำเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่นได้มากขึ้น ดังนั้นจึงแล้วแต่มิติที่มองว่าจะมองมิติด้านใด แต่รัฐบาลมองความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการบริการประชาชน
อย่างไรก็ดี เพื่อให้บริการประชาชนอย่างสะดวก และลดค่าครองชีพการเดินทางตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย วันนี้ (30 พ.ย.) กระทรวงฯ ได้เดินหน้ามาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สู่ระยะที่ 2 สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีการเดินทางข้ามระบบ ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง จะสามารถจ่ายค่าโดยสารร่วม 2 สาย ได้ในราคาเพียง 20 บาท เท่านั้น เมื่อใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที
ทั้งนี้ เมื่อใช้บัตร EMV Contactless เดินทางข้ามระบบ จะถูกหักเงินในบัตรก่อนสายละ 20 บาท รวมเป็น 40 บาท และทางธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน ทำให้จ่ายค่าโดยสารร่วมจริงเพียง 20 บาท ซึ่งต้องขอขอบคุณในความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้พัฒนาระบบรับชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ให้แก่รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายด้วย
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การใช้บัตร EMV Contactless แตะเข้า – ออกจากระบบรถไฟฟ้า มีความสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้บริการเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าไม่จำเป็นจะต้องพกบัตรโดยสารหลายใบอีกต่อไป โดยบัตร EMV Contactless นี้ สามารถใช้แตะเข้าระบบรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางได้ทันที ทั้งยังได้รับสิทธิตามมาตรการแบ่งเบาภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่างๆ ของภาครัฐอย่างเต็มที่ ไม่เพียงเฉพาะสิทธิจ่ายค่าโดยสารร่วม รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง - รถไฟชานเมือง สายสีแดง ในราคา 20 บาท ซึ่งปัจจุบันผู้ที่ใช้บัตร EMV Contactless ในการเดินทางข้ามระบบระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทุกสายในความรับผิดชอบของ รฟม. ได้แก่ สายสีม่วง - สายสีน้ำเงิน - สายสีเหลือง รวมถึงสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ช่วงต้นปี 2567 ยังจะได้รับสิทธิส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบอีกด้วย
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT ทุกสายในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ที่มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้รับสัมปทานในการเดินรถ และรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่มีบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เป็นผู้รับสัมปทานในการเดินรถ สามารถรองรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ได้ทั้งหมด โดยผู้ที่เดินทางข้ามระบบในระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทั้ง 4 สายนี้ ด้วยบัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบภายในเวลา 30 นาที จะจ่ายค่าแรกเข้าระบบเพียงครั้งเดียว โดยคิดจากค่าแรกเข้าหรือค่าโดยสารเริ่มต้นของรถไฟฟ้า MRT สายแรกที่ท่านเริ่มเดินทางเท่านั้น ทั้งนี้ รฟม. มองว่า EMV เป็นระบบเปิดที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบใหม่ๆ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี และเป็นมิตรต่อทั้งต่อผู้ใช้บริการชาวไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการระบบรถไฟฟ้า MRT เนื่องจากคนจำนวนมากพกบัตรเครดิตวีซ่า (VISA) หรือมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ที่มีสัญลักษณ์ Contactless Payment อยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้โดยสารยังสามารถแตะจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย บัตรเดบิตของธนาคารยูโอบี และบัตรเดบิต Play Card (สมัครผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์) ที่สามารถใช้เป็นบัตร EMV Contactless ได้เช่นเดียวกัน