"ราชกิจจานุเบกษา" ประกาศเรื่องการแต่งตั้งองคมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเก้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรีตามประกาศลงวันที่ 21 ต.ค. 2565 แล้วนั้น
บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นองคมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 29 พ.ย. 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน
- "คณะองคมนตรี"...คือใคร?
"คณะองคมนตรี" หมายถึงคณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือก และทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยประเทศที่มีสภาองคมนตรี หรือองค์กรเทียบเท่าในปัจจุบัน ได้แก่ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ประเทศแคนาดา ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ราชอาณาจักรตองกา และราชอาณาจักรไทย
- ความเป็นมาของ "คณะองคมนตรี" ในประเทศไทย
สำหรับ "คณะองคมนตรี" มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะแรกนั้นไม่ได้เรียก “คณะองคมนตรี” แต่จะใช้คำว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” “ปรีวีเคาน์ซิลลอร์” หรือ “ที่ปรึกษาในพระองค์” ส่วนคำว่า “องคมนตรี” เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน
ทั้งนี้ในรายงานการประชุมเสนาบดี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ร.ศ.111 (พ.ศ.2435) และใน “ประกาศการพระราชพิธีศรีสัจปานกาล พระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็กแลเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลตั้งองคมนตรี” เมื่อ ร.ศ.111 ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า “องคมนตรี” แล้ว
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการตั้งปรีวีเคาน์ซิลล์หรือคณะที่ปรึกษาในพระองค์หลายครั้ง ทั้งนี้ “...จำนวนทีปรึกษาในพระองค์นั้น มากน้อยเท่าใดไม่มีกำหนด ตามแต่พระราชประสงค์...แล้วต้องรับตำแหน่งที่อยู่จนสิ้นแผ่นดิน...” ต่อเมื่อทรงเห็นว่าผู้ใดมีความเหมาะสมก็จะทรงตั้งเพิ่มเติม และมีการผลัดเปลี่ยนได้ตามแต่จะทรงเห็นสมควร
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แบบอย่างการแต่งตั้งองคมนตรียังคงเป็นไปแบบเดิม ไม่มีการแก้ไขประการใด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งองคมนตรีขึ้นใหม่ตามพระราชอัธยาศัย แต่ทั้งนี้ ทรงตั้งประเพณีไว้อย่างหนึ่ง คือในเดือนมีนาคมให้กระทรวงมุรธาธรทำบัญชีผู้ได้รับพระราชทานพานทองเครื่องยศในคราวพระราชพิธีฉัตรมงคลเดือนพฤศจิกายนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเลือกองคมนตรี แล้วจะทรงตั้งเป็นองคมนตรีในวันที่ 4 เมษายนของทุกปี เนื่องในพระราชพิธีศรีสัจปานกาล (พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา) เป็นผลให้องคมนตรีในรัชกาลนี้มีมากถึง 32 คน และอยู่ในตำแหน่งไปจนสิ้นรัชกาล [2]
สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยึดแบบอย่างการแต่งตั้งองคมนตรีตามแบบประเพณีในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงบ้างคือ ทรงเลือกผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องยศชั้นพานทองด้วย อีกทั้งจำนวนองคมนตรีมีจำนวนมาก ไม่สะดวกในการเรียกเข้าประชุม รัชกาลที่ 7 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “สภากรรมการองคมนตรี” ขึ้นตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 และทรงคัดเลือกองคมนตรีที่ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ จำนวน 40 คน เข้ามาเป็นกรรมการองคมนตรีเพื่อทำหน้าที่ “ประชุมปรึกษาหารือข้อราชการตามแต่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมาให้ปรึกษา” นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริจะให้สภากรรมการองคมนตรีเป็นที่ประชุมตัวอย่างสำหรับการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเสรีอีกด้วย ตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 สภาองคมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่และทำการประชุมอย่างสม่ำเสมอ
จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงได้มีประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 องคมนตรีทั้งหมดจึงพ้นจากตำแหน่ง และว่างเว้นมาเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 จึงมีบทบัญญัติคล้ายคลึงกันโดยกำหนดให้มี "คณะอภิรัฐมนตรี" ทำหน้าที่นี้ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะองคมนตรี" ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 และใช้มาตราบจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีประกาศแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2470 ซึ่งมีรายละเอียดบัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ...”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุว่า เป็นคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิเป็น ประธานองคมนตรี คนหนึ่งและ องคมนตรี อื่นอีกไม่เกิน 18 คน ความเห็นที่ถวายต่อพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นพระราชกรณียกิจ ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาเท่านั้น การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดย ประธานองคมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง องคมนตรี หรือให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
#องคมนตรี #บิ๊กตู่ #ราชกิจจานุเบกษา #พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา