'กัณวีร์' มองเป็นนิมิตหมายดี ได้พลเรือนเป็นหัวหน้าเจรจา ‘สันติสุขชายแดนใต้’ แนะ ควรเพิ่มสัดส่วนภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบ-มอบอำนาจเต็มให้คณะพูดคุยฯ ตัดสินใจไปสู่การปฏิบัติได้โดยเร็ว

วันที่ 29 พ.ย. 2566 ที่รัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ศึกษาติดตาม และส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปาตานี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแต่งตั้งนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะพุดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้คนใหม่ ว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคณะพูดคุย ที่มีหัวหน้าเป็นข้าราชการประจำที่อยู่มาอย่างยาวนาน คนแรกคือพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาฯ สมช. ซึ่งครั้งนี้คือการแต่งตั้ง รองเลขาฯ สมช. มาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ยังมองได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ทหาร การปกครอง ตำรวจ แต่ยังเกี่ยวกับมิติการต่างประเทศ มิติการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ สาธารณสุข ดังนั้น การเข้ามากุมบังเหียนของนายฉัตรชัย ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ของฝั่งไทย ถือเป็นการดี

นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า ในคณะพูดคุยฯ ครั้งนี้ ได้มีการตัดผู้แทนจาก 3 หน่วยงานออก คือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สันติบาล และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ส่วนกลาง แต่ยังมี กอ.รมน. ในพื้นที่อยู่ ซึ่งมองในแง่ดีก็ถือว่าทำให้คล่องตัว

นายกัณวีร์ กล่าวย้ำว่า ตนก็เสนอมาตลอดว่า การพูดคุยเจรจาสันติภาพจำเป็นต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ เพื่อมาแสดงออกว่าต้องการอะไร หากสามารถรวมสัดส่วนของภาคประชาชน และประชาสังคมเข้าไปในคณะพูดคุยได้ ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเดิม ทั้งนี้ ในการประชุม กมธ.วันนี้ จะแสดงให้เห็นว่าจะมีการหยิบยกเรื่องของคณะพูดคุยฯ มาหารือกันในที่ประชุมหรือไม่

นายกัณวีร์ กล่าวอีกว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพดูมีความน่าเชื่อถือสูงขึ้น เพราะไทยได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ มีการอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ ทั้งของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ความน่าเชื่อถืออย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติด้วย จะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่สามารถแสดงออก ไม่มีการกดทับ หรืออัตลักษณ์ และสิทธิเสรีภาพ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ กมธ.จะต้องขับเคลื่อน

นายกัณวีร์ กล่าวย้ำว่า หากจะทำให้ความน่าเชื่อถือสูงขึ้นทันที จำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะกฎอัยการศึก ซึ่งอาจยกเลิกลำบาก เพราะผู้บังคับกองพันของหน่วยทหารในพื้นที่สามารถประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ แต่การยกเลิกต้องใช้เป็นพระบรมราชโองการ กรณีดังกล่าวจะแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือ และความเอาจริงเอาจังของฝ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่

เมื่อถามว่า คณะพูดคุยฯ ควรจะเริ่มกระบวนการเจรจาในช่วงใด นายกัณวีร์ กล่าวว่า เวลานี้องคาพยพยังไม่พร้อม หากมีการพูดคุยเกิดขึ้น คณะพูดคุยฯ จะสามารถตัดสินใจจากข้อเสนอของคู่เจรจาได้ทันทีหรือไม่ หรือคณะพูดคุยฯ อาจไม่มีอำนาจหน้าที่เต็ม ต้องกลับไปถามรัฐบาลก่อน จะทำให้การพูดคุยขาดความน่าเชื่อถือ และกลับไปเป็นแบบเดิม

นายกัณวีร์ ให้ความเห็นด้วยว่า คณะพูดคุยฯ จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ชัดเจน สามารถตัดสินใจโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ หากได้รับอำนาจเต็มที่จากนายกรัฐมนตรี ให้คณะพูดคุยฯ ได้มีบทบาท และข้อจำกัดของอำนาจที่ชัดเจนว่า สามารถทำอะไรได้ ไม่ใช่แค่คุยอย่างเดียว เพราะจะไม่เป็นผล แต่คุยแล้วต้องเห็นผลในเชิงปฏิบัติด้วย