ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ซับซ้อนในด้านสังคม-คุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจของภาคครัวเรือน

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็คือ การทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่ง “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ของ ธปท.ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีการเตรียมหลักเกณฑ์ Risk-based pricing สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกันเพื่อช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้นอกระบบด้วยเช่นกัน ขณะที่ประเด็นสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐ จะอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบสถานะของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมไปถึงการจูงใจให้เจ้าหนี้มาร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ สำหรับในระยะข้างหน้า คงต้องติดตามการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนส่วนที่อยู่ในระบบ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนจะขยับขึ้นไปที่กรอบ 16.4-16.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90-91% ต่อจีดีพี

โดยในการแถลงข่าวแนวทางการแก้หนี้นอกระบบ (28 พ.ย.66) รัฐบาลได้มีการประกาศให้ "การแก้ไขหนี้นอกระบบ" เป็นวาระชาติ โดยมีการประเมินว่า หนี้นอกระบบของไทยอาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งในการแก้หนี้นอกระบบนั้น ภาครัฐจะมีการปรับกระบวนการทำงานของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำฐานข้อมูลกลางและระบบที่สามารถติดตามผลได้ รวมถึงจะมีการใช้โครงการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นภาพสะท้อนของปมปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสังคม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน เพราะโดยทั่วไป ลูกหนี้ที่มีการกู้ยืมจากแหล่งเงินนอกระบบนั้น มักจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า 15% ที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และอาจต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงจากการทวงหนี้ของเจ้าหนี้ ดังนั้น หากมองจากมุมของลูกหนี้แล้ว การกู้ยืมนอกระบบน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการหมุนสภาพคล่อง หลังจากที่ลูกหนี้ได้พยายามใช้วิธีอื่นๆมาแล้ว  

โดยเป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็คือ การทำให้หนี้นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งเมื่อสามารถช่วยประชาชนกลุ่มที่พึ่งพาหนี้นอกระบบให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ดีขึ้นแล้ว ผลได้ที่ชัดเจนที่สุดที่ลูกหนี้จะได้รับ ก็น่าจะเป็น ภาระดอกเบี้ยที่ลดลงซึ่งก็จะทำให้ครัวเรือนปลดภาระหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปทบทวน “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ของธปท. ที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ ก็ได้มีการเตรียมหลักเกณฑ์เพื่อดูแลและช่วยในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้นอกระบบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ Risk-based pricing (RBP) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่จะเริ่มเปิดรับผู้สมัครเข้าร่วมทดสอบใน Sandbox ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้หลักเกณฑ์ RBP สำหรับสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผู้ปล่อยกู้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามความเสี่ยงของลูกหนี้ ซึ่งหากในอนาคตมีผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบออกจาก Sandbox ได้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยเสริมโอกาสให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เพิ่มมากขึ้น
        
ขณะที่ประเด็นสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐจะอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบและยืนยันสถานะของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมไปถึงการจูงใจให้เจ้าหนี้มาร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ โดยหากการติดตามเจ้าหนี้มีความล่าช้า ก็อาจต้องมีการพิจารณาต่อว่าจะดำเนินการเพิ่มเติมอย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อนำไปปิดหนี้นอกระบบ แต่หากกระบวนการสามารถเดินหน้าต่อได้ก็จะทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในระบบปรับเพิ่มขึ้นตามยอดการปล่อยสินเชื่อในส่วนดังกล่าว นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนให้ได้อย่างยั่งยืนคงต้องย้อนกลับไปดูแลปัญหาที่ต้นตอในระดับครัวเรือน โดยเฉพาะในด้านรายได้ ความรู้และวินัยทางการเงิน รวมถึงคงต้องดำเนินการเพิ่มเติมในอีกหลายๆส่วน โดยเฉพาะหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระบบ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นไปที่กรอบ 16.4-16.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90-91% ต่อจีดีพี เทียบกับระดับ ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 15.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.4% ต่อจีดีพี

 

 

#ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #หนี้นอกระบบ #คุณภาพชีวิต #จีดีพี #แบงก์ชาติ #หนี้ครัวเรือน #เจ้าหนี้