ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน SET ESG Experts Pool จัดงาน SET ESG Professionals Forum 2023 ภายใต้แนวคิด Together for Change เพื่อรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง นับเป็นเวทีระดมความร่วมมือของ ESG Professionals ที่ใหญ่ที่สุดในไทย เผยถึงเวลาเร่งสร้างคนและขยายความร่วมมือเพื่อให้เท่าทันต่อวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง และองค์กรธุรกิจต้องให้ความสำคัญใน 5 เรื่องท้าทายได้แก่ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น (Resilient Value Chain) การปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero การใช้โอกาสจาก Thailand Taxonomy เพื่อแก้ไขปัญหา Greenwashing การให้ความสำคัญต่อกระบวนการเปิดเผยข้อมูล ESG และภาคการศึกษาที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญในเรื่องการพัฒนาความยั่งยืน
ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานอนุกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในปาฐกถาพิเศษ ‘Moving the Mountain for Sustainable Impact, Yes,We Can!’ ว่า ขณะนี้ถนนทุกสายล้วนมุ่งสู่ความยั่งยืน แม้เผชิญกับอุปสรรคใหม่ การมีเพื่อนร่วมทางสนับสนุนกันย่อมดีกว่าเดินทางคนเดียว ขอให้ยึดหลักการ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1) มองมิติความยั่งยืน (ESG) คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ที่เชื่อมโยงและไม่แยกขาดจากกัน 2) มองกว้างและมองไกลเกินกว่าห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ โดยมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งตัวองค์กรและส่วนรวม และ 3) ทลายกำแพงอคติ ก้าวข้ามอัตตาเดิม เรียนรู้และร่วมมือให้เกิดพลัง สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ยกระดับตลาดทุนไทยให้เท่าทันและทัดเทียมกับนานาชาติ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและมีความหมายต่อทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ภายในงาน SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change ยังได้มีการนำเสนอ 5 แนวโน้มความท้าทายในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนของตลาดทุนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ตกผลึกจากความคิดและการทำงานร่วมกันของสมาชิก SET ESG Experts Pool ตลอดปี 2566 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
-การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและจัดการห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ (Supply Chain) จากแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็นห่วงโซ่คุณค่าที่ยืดหยุ่น (Resilient Value Chain) พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ผ่านความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดตลอดห่วงโซ่คุณค่าในการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจในทุกมิติ
-การปรับตัวขององค์กรธุรกิจในมิติสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือมาตรฐานและกฎเกณฑ์ระดับโลกที่เพิ่มขึ้น โดยควรเริ่มตั้งแต่การคำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน (Baseline Emission) การตั้งเป้าหมาย และการปรับแผนกลยุทธ์ของธุรกิจ เพื่อคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง
-การสร้างโอกาสจาก Thailand Taxonomy ที่เปรียบเสมือน “ไม้บรรทัด” ที่ช่วยสร้างแนวทางสื่อสารว่าการดำเนินการของธุรกิจสร้างผลเชิงบวกจริง ไม่ได้เป็นการบิดเบือน (Greenwashing) รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน/ระดมทุน ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีให้กับธุรกิจ
-เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ESG จะเข้มขึ้นมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อ “กระบวนการ” ที่ได้มาของข้อมูล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล และสามารถสะท้อนถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง
-บทบาทของภาคการศึกษาที่จะยิ่งทวีความสำคัญ ในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างองค์กร หน่วยงาน และภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ที่จำเป็นต้องผลิตคนทำงาน บุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและประเทศ
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน ESG อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “คนทำงาน” ซึ่งเป็นฟันเฟื่องสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งบุคลากรต้องเข้าใจและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจริง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งสร้างและพัฒนาคนที่มีคุณภาพเพื่อสอดรับความต้องการของตลาดทุนมาโดยตลอดแต่ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงต้องมีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อต่อยอด ถ่ายทอด และขยายความรู้ให้กว้างและเร็วที่สุด และเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการตั้งแต่วันนี้
นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืนในภาคตลาดทุน (SET ESG Experts Pool) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนา ESG ในวงกว้าง ตลอดจนการผลักดันธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียรอบด้านและปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลอย่างต่อเนื่อง สร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาเครื่องมือด้าน ESG และการประเมิน SET ESG Ratings เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและการลงทุน รวมถึงวางระบบ Infrastructure เช่น ESG Data Platform เพื่อรวมศูนย์จัดการข้อมูลความยั่งยืน เป็นต้น