กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกมาตรการคุ้มครองแรงงานเชิงรุกเฝ้าระวังการเลิกจ้าง พร้อมเตือนนายจ้าง หากเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยหรือฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน มีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และอาจมีโทษปรับสูงสุดถึง 1 แสนบาท
นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงนี้ที่มีกระแสข่าวสถานประกอบกิจการหลายแห่งปิดกิจการ ย้ายฐานการผลิต รวมทั้งเลิกจ้างลูกจ้าง ว่า กสร. มีความห่วงใยทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ต้องประสบปัญหาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการและการจ้างงานของนายจ้างจนอาจเกิดปัญหาการเลิกจ้างตามมา จึงอยากขอเน้นย้ำว่า กสร. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง กสร. ได้ดำเนินการออกมาตรการคุ้มครองแรงงานเชิงรุกเฝ้าระวังการเลิกจ้าง โดยหากพบว่ามีการค้างจ่ายค่าจ้างให้ดำเนินการตรวจแรงงานเชิงรุก ดำเนินการออกคำสั่งและช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย
lj;oกรณีที่มีการค้างจ่ายค่าจ้างที่ส่งผลต่อลูกจ้างจำนวนมาก ให้พนักงานตรวจแรงงานอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างนอกสถานที่ พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้รวมถึงการชี้แจงสิทธิให้ลูกจ้างทราบอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่หยุดกิจการชั่วคราว และมีแนวโน้มในการเลิกจ้าง โดยมีการวางแผนป้องกันและแก้ไขไม่ให้ปัญหาลุกลามจนเกินไป และที่สำคัญคือต้องดำเนินการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการกลุ่มดังกล่าวนำมาตรการในการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างของกรม เช่น การลดค่าใช้จ่ายโดยความร่วมมือของลูกจ้าง การปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และเกิดความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ด้านนางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดี กสร. ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานด้านการคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตามมาตรา 118 กรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งรวมถึงการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานและไม่จ่ายค่าจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายตามอายุงานให้แก่ลูกจ้าง รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง โดยนายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบก่อนหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป มิฉะนั้น ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างด้วย หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้างต้น สามารถยื่นคำร้อง คร.7 ต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ สำหรับนายจ้างหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งความผิดทางอาญากรณีค้างจ่ายเงินอื่นด้วย เช่น ค่าชดเชย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
#เลิกจ้าง #ลูกจ้าง #จ่ายค่าชดเชย