เมื่อวันที่ 29 พ.ย.66 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...

โควิด 19 แนวโน้มเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล

เมื่อโรคโควิด 19 เป็นโรคตามฤดูกาล จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่มาก โดยพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากตามฤดูกาล ช่วงแรกจะพบในช่วงเปิดเทอมแรกหรือฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดมากสุดของปี ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม แล้วค่อยๆลดลง และจะมามากอีกครั้งหนึ่งในช่วงฤดูหนาวหรือเทอมที่ 2 ของนักเรียนในเดือนธันวาคมและมกราคมและจะลดลงหลังเดือนกุมภาพันธ์ ในฤดูร้อนโควิด 19 จะสงบแล้วไปเริ่มใหม่อีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายนปีหน้าจะเป็นวงจรเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่

ในที่สุดโรคนี้ก็จะคล้ายไข้หวัดใหญ่ ความรุนแรงของโรคก็จะลงมาใกล้เคียงกันและยิ่งนานวันก็อาจจะลดลงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ก็เป็นได้ เพราะไข้หวัดใหญ่ยังมีสายพันธุ์ที่แยกกันชัดเจน แล้วเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปทีละเล็กละน้อย เช่นไข้หวัดใหญ่ A มี 2 ตัว มี H1N1 และ H3N2 และไข้หวัดใหญ่ B ส่วนโควิด 19 จะมีเพียงตัวเดียวและกลายพันธุ์ไปทีละเล็กละน้อยเช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่

เมื่อความรุนแรงของโรคลดลงไม่เหมือนในระยะแรกหรือปีแรกที่มีอัตราการลงปอดและเสียชีวิตสูง ทั้งนี้เพราะประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากวัคซีน และจากการติดเชื้อมาแล้ว วัคซีนต่อไปจึงมีความจำเป็นเฉพาะในกลุ่มเปราะบางเท่านั้น และฤดูกาลที่ให้ก็ควรจะเป็นก่อนการระบาดใหญ่หรือก่อนเปิดเทอมของนักเรียน ในเด็กที่แข็งแรงดีหรือคนหนุ่มสาววัยทำงานที่มีร่างกายแข็งแรงดี ส่วนใหญ่ก็มีภูมิต้านทานบ้างแล้วจากวัคซีนในอดีตและเคยติดเชื้อ ถึงแม้จะมีการติดเชื้อซ้ำความรุนแรงก็จะลดลง

ดังนั้นอย่างที่เคยพูดไว้ว่าเมื่อความรุนแรงของโรคลดลงถึงระดับหนึ่งก็จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ กลยุทธ์ในการดูแล การปฏิบัติ ควบคุมป้องกันโรคจึงไม่แตกต่างกันมากกับไข้หวัดใหญ่