“ไชยา” สั่งห้ามนำเข้าโคมีชีวิตต่างประเทศ ระบุตราบใดที่ยังระบายออกไม่หมดหรือมีโรคปากเท้าเปื่อย หากข้าราชการมีเอี่ยวคาดโทษให้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ดำเนินการทางวินัยเฉียบขาด เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าโคมีชีวิตเถื่อนตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พญานาค2) กล่าวว่า การป้องกันการลักลอบนำเข้าเนื้อเถื่อนยังทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าปัญหาการลักลอบนำเข้าโคมีชีวิตเช่นกัน ล่าสุดมีรายงานจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ ว่ามีการลักลอบเคลื่อนย้ายโคมีชีวิต จำนวน 16 ตัวที่เข้ามาทางแม่ฮ่องสอน ซึ่งชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ทหารร้อย ร.712 ฉก.สิงหนาทสามารถสกัดจับไว้ได้ และยังมีที่ด่านเชียงราย เจ้าหน้าที่ด่านศุลากรเชียงของ เจ้าหน้าที่ทหารพราน ร้อย ทพ 3101 ฉก.ทพ.31 นรข.เขตเชียงราย ยังทำการตรวจยึดเนื้อสุกรเถื่อนได้กว่า 350 กิโลกรัม 

“กรณีนี้ทำให้เห็นว่าปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อเถื่อนและโคเถื่อนยังมีอยู่ และมีเจ้าหน้าที่รู้เห็น ซึ่งในส่วนที่ตนดูแลกรมปศุสัตว์ ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทำการปราบปรามอย่างเข้มงวด ขณะนี้ตนได้กำชับให้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องห้ามให้มีการนำเข้าโคมีชีวิตจากต่างประเทศอย่างเด็ดขาด หากพบว่ามีการจับกุมให้ดำเนินการสืบสวนไปให้จนจบสิ้นกระบวนความ และเมื่อพบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ไปเกี่ยวข้องก็ให้ดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาดต่อไป”

นายไชยา กล่าวว่า กรณีที่ยังไม่ให้มีการนำเข้าโคมีชีวิตตามชายแดนนั้น ก็เนื่องจากว่ามีรายงานทั้งจากผู้ที่ต้องการที่จะนำเข้าโคมีชีวิต กับกลุ่มพ่อค้าที่ไม่ต้องการให้มีการนำเข้าโคมีชีวิต และประกอบกับการที่ยังมีปัญหาโรคปากเท้าเปื่อยที่มีอยู่ในโคมีชีวิตตามตะเข็บชายแดน เรื่องนี้จึงมีผู้ร้องเรียนมาร้องเรียนข้อเสนอในการประท้วงต่อคำสั่งห้ามนำเข้าตามประกาศของกรมปศุสัตว์ โดยได้ขอผ่อนนั้น ในการแก้ไขปัญหา ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตนจะได้เรียกสองฝ่าย ทั้งผู้สนับสนุน และ ค้านการนำเข้ามาพูดคุย เพื่อทราบข้อเท็จจริง ว่าผู้ที่คัดค้านก็แจ้งว่า โคมีชีวิตในประเทศยังมีปริมาณที่ล้นตลาด แต่ในทางกลับกัน ผู้สนับสนุนก็ต้องการให้มีการนำเข้าที่ให้เหตุผลว่า โคมีชีวิต มีไม่เพียงพอ ข้อสรุปจึงต้องมีก็เพื่อทำการระบายสินค้าที่ล้นตลาด แต่ถ้าหากปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงจะหามาตรการในการผ่อนปรนต่อไป แต่เบื้องต้นต้องนำสินค้าที่มีอยู่เดินออกระบายเสียก่อน ดังนั้นคำสั่งของกรมปศุสัตว์เรื่องชะลอการนำเข้า ถ้าหากในอนาคตในประเทศขาดแคลน ด้วยสาเหตุความสามารถในการส่งออกมากขึ้น และมีความจำเป็นในการนำเข้าก็จะดำเนินการทบทวนใหม่ต่อไป