เมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 พระพิศาลสิทธิคุณ (ท่านเจ้าคุณไพโรจน์ ปภัสสโร) เจ้าอาวาสวัดห้วยมงคล ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในพิธีทอดกฐินสามัคคีวัดห้วยมงคล ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายของระยะเวลาทอดกฐิน มีนางณัฐวรรณ ยิ่งเมือง นางชญาณิศา ฐาณิชณาณัณ นางอัจชรา อินทชิต เเละครอบครัว พร้อมด้วยคณะศิษย์ยานุศิษย์ อุบาสก อุบาสิการ่วมเป็นเจ้าภาพ และพุทธศาสนิกชนจำนวนมากร่วมพิธีภายในศาลาการเปรียญวัดห้วยมงคล พร้อมกันนี้มีผู้ใจบุญต่างนำอาหารคาวหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่มมาออกร้านโรงทานจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้ทานฟรี โดยยอดเงินที่ได้จากการทอดฐินในครั้งนี้และปัจจัยที่ได้จากเงินบริจาคเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1 ล้านบาทเศษ ซึ่งทางวัดจะได้นำไปบูรณปฎิสังขรณ์ศาสนสถานภายในวัดห้วยมงคลต่อไป 


วัดห้วยมงคล แต่เดิมใช้ชื่อว่า “วัดห้วยคต” ต่อมาในปี 2495 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาตั้งโครงการพระราชดำริแห่งแรกขึ้นและทรงได้พระราชทานนามใหม่จาก “ห้วยคต” เป็น “ห้วยมงคล” ต่อมา พล.อ.วิเศษ คงอุทัยกุล รองสมุหราชองครักษ์มีดำริที่จะสร้าง “หลวงปู่ทวด” องค์ใหญ่ซึ่งหล่อด้วยโลหะผสม หน้าตักกว้าง 9.9 เมตร สูง 11.5 เมตร บนฐานสูง 3 ชั้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร เททองหล่อองค์หลวงพ่อทวด เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2547 และพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะกรรมการจัดสร้างอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ สก ขึ้นประดิษฐานที่หน้าองค์รูปหล่อองค์หลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันวัดห้วยมงคลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์กดัง ที่มีประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมากราบสักการะหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ในแต่ละวันกันเป็นจำนวนมาก.

​​​​​​​ ​​​​​​​