วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ท่าเรือกรุงเทพ เขตคลองเตย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบูรณาการปฏิบัติงานระหว่างกรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจวัดควันดำรถบรรทุก ป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยมี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เข้าร่วม

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการอย่างเข้มงวดในการตรวจสอบควันดำจากรถบรรทุกที่แหล่งกำเนิด อย่างไรก็ตาม จากการทดลองที่ศูนย์ฝึกอาชีพสังกัด กทม. พบว่า แม้รถจะไม่ปล่อยควันดำตามมาตรฐานกำหนด แต่ก็ยังปล่อยฝุ่น PM2.5 ออกมา สามารถแก้ไขด้วยการตรวจสภาพเครื่องยนต์เป็นประจำ เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองตามระยะเวลากำหนด โดยเฉพาะรถบรรทุกที่มีการใช้งานหนัก เบื้องต้นในวันที่ 29 พ.ย.นี้ จะเข้าหารือกับปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อหาแนวทางเปลี่ยนไส้กรองและน้ำมันเครื่องให้กับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุการใช้งานมานาน โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สร้างทางเลือกให้ประชาชนเปลี่ยนไส้กรองและน้ำมันเครื่องรถยนต์ในราคาถูกลง เพื่อสร้างแรงจูงใจ ซึ่งต้องร่วมมือหลายหน่วยงานเพราะกทม.มีอำนาจจำกัด เช่น ไม่สามารถจับปรับรถบรรทุกได้ เป็นหน้าที่ของกรมขนส่งทางบก ส่วนรถยนต์ขนาดเล็ก กทม.ต้องร่วมกับตำรวจจึงจะสามารถดำเนินการจับปรับได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าเริ่มมีการเผาฟางข้าว อ้อย ในพื้นที่ต่าง ๆ และเริ่มมีควันพัดตามลมกระจายสู่พื้นที่ใกล้เคียง กทม.ต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนี้เช่นกันเพื่อลดฝุ่น PM2.5

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า การสันดาปของเครื่องยนต์ดีเซลก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ควรหมั่นตรวจสภาพรถตามระยะเป็นประจำ โดยกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกเร่งดำเนินการตามแผนป้องกันฝุ่น PM 2.5 จากภาคการขนส่ง โดยร่วมมือกับกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ตรวจควันดำรถบรรทุกที่ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นจุดที่มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าเข้าออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้แนะนำให้ผู้ใช้รถบรรทุกดูแลเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินกฎหมายกำหนด

นายจิรุตม์ กล่าวว่า การตรวจควันดำจะใช้เครื่องวัดควันดำแบบทึบแสง มาตรฐานควันดำต้องไม่เกินร้อยละ 30 หากตรวจพบค่าควันดำเกินกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พร้อมพ่นสีบอกสัญลักษณ์ห้ามใช้งานที่ตัวรถ จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาตรฐาน เจ้าหน้าที่จึงจะลบสีที่พ่นไว้ออก และสามารถนำไปใช้งานได้ หากผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถบรรทุกลบออกเองมีโทษปรับ 10,000 บาทขึ้นไป โดยในระยะต่อไปจะดำเนินการตรวจควันดำที่อู่รถเมล์ในกทม. 21 อู่ และสถานีรถ บขส. ได้แก่ เอกมัย จตุจักร บรมราชชนนี (สายใต้) ใช้มาตรการเดียวกันกับการตรวจควันดำรถบรรทุก

จากผลการดำเนินการตรวจวัดควันดำ ของกรมการขนส่งทางบก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (1ต.ค.65- 30ก.ย.66) มีการเรียกตรวจรถทั้งสิ้น 275,782 คัน พบควันดำเกิน 30% และพ่นเครื่องหมายห้ามใช้ 2,245 คัน ประกอบด้วย รถบรรทุก เรียกตรวจ 198,008 คัน พ่นห้ามใช้ 1,925 คัน / รถโดยสารประจำทาง เรียกตรวจ 55,585 คัน พ่นห้ามใช้ 183 คัน และรถโดยสารไม่ประจำทาง เรียกตรวจ 22,189 คัน พ่นห้ามใช้ 137 คัน โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1ต.ค.66- 21พ.ย.66) เรียกตรวจรถทั้งสิ้น 24,146 คัน พบรถคำควันดำเกิน 30% และพ่นเครื่องหมายห้ามใช้ 103 คัน ประกอบด้วย รถบรรทุก เรียกตรวจ 16,934 คัน พ่นห้ามใช้ 92 คัน / รถโดยสารประจำทาง เรียกตรวจ 5,891 คัน พ่นห้ามใช้ 4 คัน และรถโดยสารไม่ประจำทาง เรียกตรวจ 1,311 คัน พ่นห้ามใช้ 7 คัน

สำหรับขั้นตอนเตรียมการก่อนตรวจวัดควันดำของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย 1.จอดรถอยู่กับที่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง 2.ปิดระบบครื่องปรับอากาศของรถ และระบบเบรกไอเสีย (ถ้ามี) 3.เดินครื่องยนต์ให้อยู่ในอุณหภูมิใช้งานปกติ เจ้าหน้าที่จะสอดเครื่องวัดในปากท่อไอเสียแล้วเร่งเครื่องยนต์เพื่อวัดค่า

​​​​​​​