นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยแนวทางบริหารจัดการกระทงในเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ปี 2566 ว่า ในปีนี้คาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวออกมาลอยกระทงมากขึ้นกว่าปีที่แล้วเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ปริมาณกระทงอาจเพิ่มมากขึ้นด้วย กทม.จึงรณรงค์ให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติแทนวัสดุโฟม ภายใต้แนวคิด ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานประเพณีไทย สู่ความยั่งยืน โดยสำนักสิ่งแวดล้อมวางแผนจัดเก็บกระทงตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร และในสวนสาธารณะ ซึ่งกระทงที่จัดเก็บได้จะลำเลียงขึ้นที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และ ท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อรวบรวมนำไปกำจัดต่อไป โดยใช้เจ้าหน้าที่จัดเก็บ 168 คน ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 27 พ.ย. ถึง เวลา 05.00 น. ของวันที่ 28 พ.ย.66 ใช้เรือจัดเก็บ 37 ลำ ประกอบด้วย เรือเก็บขยะติดไฟส่องสว่าง31 ลำ เรือขนถ่ายลำเลียงวัชพืช 2 ลำ จอดที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช 1 ลำ เรือเก็บกวาดวัชพืช 1 ลำ เรือตรวจการณ์ 2 ลำ รถตรวจการณ์ 5 คัน และรถบรรทุกเทท้าย 8 คัน เพื่อลำเลียงไปที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม

 

โดยกระทงที่จัดเก็บได้จะถูกนำมาคัดแยกก่อนนำส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม ซึ่งการคัดแยกขยะกระทงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ1.กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ นำส่งเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ซึ่งเป็นการนำกระทงกลับมาใช้ประโยชน์และลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำกระทงไปฝังกลบ 2.กระทงโฟม นำไปกำจัดโดยการฝังกลบอย่างถูกวิธี ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต 50 เขต และสำนักการระบายน้ำ จะรวบรวมข้อมูลจำนวนกระทงที่จัดเก็บได้แต่ละประเภท ส่งให้สำนักสิ่งแวดล้อม ก่อนเวลา 05.00 น. ของวันที่ 28 พ.ย.66 และสรุปรายงานผลการจัดเก็บกระทง ภายในเวลา07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (วันที่ 28 พ.ย.66) ผ่านเว็บไซต์ www.bangkok.go.th 

 

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ปัญหาอุปสรรคในการจัดเก็บกระทง ประกอบด้วย 1.แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ไม่มีการจัดงานจะไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้การจัดเก็บกระทงเป็นไปได้ยาก 2.มีผักตบชวาปริมาณมากในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ยากต่อการจัดเก็บกระทง 3.พบตะปู เข็มหมุด ปนมากับกระทง ทำให้เกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บกระทงและทำให้เครื่องจักรเสียหาย จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ปี 2561 มีกระทงจากวัสดุธรรมชาติร้อยละ 94.70 จากโฟมร้อยละ5.30 รวม 841,327 ใบ ปี 2562 วัสดุธรรมชาติร้อยละ 96.30 จากโฟมร้อยละ 3.70 รวม 502,024 ใบ ปี 2563 วัสดุธรรมชาติร้อยละ 96.40 จากโฟมร้อยละ 3.60 รวม 492,537 ใบ ปี 2564 วัสดุธรรมชาติร้อยละ 96.46 จากโฟมร้อยละ 3.54 รวม 403,235 ใบ ปี 2565 วัสดุธรรมชาติร้อยละ 95.70 จากโฟมร้อยละ 4.30 รวม 572,602 ใบ

 

“ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนเห็นความสำคัญและมีความตระหนักใส่ใจรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งกทม.ใช้งบประมาณจัดเก็บกระทงปีละ 10-20 ล้านบาท จัดเก็บได้ปีละหลายร้อยตัน ดังนั้น การส่งเสริมการลอยกระทงควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนทราบ ซึ่งวิธีลดปริมาณขยะหลังคืนลอยกระทง คือ 1.ประชาชนลอยกระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว/1 คู่รัก/1 กลุ่ม/ 1 สำนักงานต่อ 1 กระทง 2.เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยก 3.ลอยกระทงออนไลน์ จึงขอเชิญชวนให้ใช้กระทงธรรมชาติ ลดการใช้กระทงโฟม โดยหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงที่ทำจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสำปะหลังชานอ้อย หรือกระทงขนมปัง เนื่องจากกระทงดังกล่าวจะไม่ทำลายสภาพแวดล้อม หากเก็บกระทงไม่หมดก็จะย่อยสลายได้เองตาม ธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากกระทงโฟมที่ต้องกำจัดโดยการนำไปฝังกลบและใช้เวลานานในการย่อยสลาย” นายจักกพันธุ์ กล่าว